เกี่ยวกับเรา
5,960 views    
    [25 ธ.ค. 60]    
   ความเป็นมา

            สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 797 วันที่ 27 ตุลาคม 2559 ได้มีมติจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหาร จัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2564 มีภาระหน้าที่ในการพัฒนา บริหารจัดการ ให้บริการ กำกับติดตามและสนับสนุน ประสานงาน หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อส่งเสริมระบบความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับส่วนงานรวมทั้งการอื่นใดที่ได้รับมอบหมาย


   วิสัยทัศน์และพันธกิจ

วิสัยทัศน์

  • 2565 – 2569  

               "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีการดำเนินการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบอย่างและยั่งยืน"

  • 2560 – 2564 

               "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาคม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม"


พันธกิจ

  • 2565 – 2569  

               "ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน  จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการป้องกัน"

  • 2560 – 2564

               "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการจัดการที่จะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่ปลอดอุบัติเหตุ (ZERO ACCIDENT)"




   อำนาจหน้าที่
  1. พัฒนาและบริหารจัดการระบบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนงาน
  2. เสนอแนะมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง
  3. ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับการดำเนินงานของส่วนงานและหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการและแนวปฏิบัติที่กำหนด รวมทั้งวางแนวทางการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขที่เหมาะสมต่อส่วนงานต่างๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  4. ประสานงาน สนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่ส่วนงานต่างๆ ในการดำเนินการกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมอันตรายภายใน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอันตรายจากอุบัติภัยและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งครอบคลุมผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมและการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ ทักษะ และความชำนาญตามลักษณะงาน เพื่อให้มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเรียนรู้มาตรการป้องกันต่างๆ อย่างถูกต้อง
  6. เป็นศูนย์รวมข้อมูลเพื่อการบริหารและดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
   โครงสร้างการบริหารงาน


ศปอส. ทำหน้าที่นำนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาดำเนินการ โดยประสานความร่วมมือกับส่วนงานเพื่อการปฏิบัติงานที่มีเอกภาพ โดยมีคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับ ดูแลการดำเนินงาน พิจารณาให้ความเห็นแผนปฏิบัติงานประจำปี และมีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับทิศทางด้านวิชาการในภาพรวม รวมทั้งมีคณะกรรมการความปลอดภัยแต่ละด้าน คือ คณะกรรมการความปลอดภัยด้านเคมี คณะกรรมการควมคุมความปลอดภัยทางชีวภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการความปลอดภัยด้านรังสี พิจารณาการกำกับดูแลทางเทคนิคในแต่ละด้าน นอกจากนั้นในทางภารกิจก็มีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เช่น คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยพื้นฐาน และหลักสูตรความปลอดภัยด้านเคมี คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางชีวภาพ คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมินความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี และคณะกรรมการพัฒนาและจัดทำสาระความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

ในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ส่วนงานต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับส่วนงาน (คปอ. ส่วนงาน) เพื่อให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกันในลักษณะเครือข่าย

   กลุ่มงานภายใน

ภายในหน่วยงาน ศปอส. แบ่งกลุ่มภารกิจออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้

  1. กลุ่มภารกิจบริการวิชาการและบริหาร

รับผิดชอบงานเกี่ยวกับ การวางแผน ส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ประสานงาน ดำเนินงาน ให้บริการด้านวิชาการแก่บุคลากรและผู้สนใจ ดำเนินงานด้านอำนวยการงานธุรการ รวมทั้งการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย


กลุ่มงานบริการวิชาการและบริหาร แบ่งเป็น 2 กลุ่มงานย่อย ดังนี้


     1.1 งานบริหารธุรการ

ดำเนินงานและสนับสนุนงานด้านอำนวยการงานธุรการของศูนย์ งานสื่อสาร งานประชุม ประสานงาน และงานบริหารทั่วไป

 

      1.2 งานพัฒนาหลักสูตร

      ออกแบบ พัฒนาและจัดทำหลักสูตรด้านการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามกลุ่มเป้าหมายและลักษณะงาน ดำเนินงานวางแผนการพัฒนาบุคลากรและการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดำเนินงานจัดฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรตามกลุ่มเป้าหมาย ลักษณะงาน และความเสี่ยง จัดทำสื่อ กิจกรรม และช่องทางการสื่อสารเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

  2. กลุ่มภารกิจพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย

รับผิดชอบงานเกี่ยวกับ การวางแผน ส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ประสานงาน ดำเนินงาน ให้บริการด้านวิชาการแก่บุคลากรและผู้สนใจ ดำเนินงานด้านอำนวยการงานธุรการ รวมทั้งการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย


กลุ่มภารกิจพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย แบ่งเป็น 4 กลุ่มงานย่อย ดังนี้


       2.1 งานระบบฐานข้อมูล

การบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ออกแบบ พัฒนา บริการ การเข้าถึงข้อมูล ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน รวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

     

       2.2 งานเครือข่าย คปอ. ส่วนงาน

ดำเนินงานวางแผน ประสานงาน กำกับ ติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงาน คปอ. ส่วนงาน ในการมีส่วนร่วมและดำเนินงานสอดคล้องกับกฎหมาย มาตรฐานแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยด้านความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน   


       2.3 งานยกระดับความปลอดภัย

ดำเนินงานศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อพัฒนาและยกระดับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ห้องปฏิบัติการ/อาคาร วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง


       2.4 งานตอบโต้เหตุฉุกเฉิน

ดำเนินงานวางแผน ทำแผนจัดการภาวะฉุกเฉิน ประสานงาน ฝึกซ้อม เตรียมความพร้อม รองรับ การตอบโต้เหตุฉุกเฉิน การแก้ไขภาวะวิกฤติจากอุบัติภัยที่เกิดจากการปฏิบัติงาน