เครื่องกรองอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ พัดลม และหน้ากาก  ช่วยป้องกัน PM 2.5 ได้หรือไม่?
6,793 views    
    [13 ก.พ. 62]    

จากสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ทำให้สังคมหันมาสนใจเรื่องมลพิษทางอากาศกันมากขึ้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามอนุภาคฝุ่นละเอียดขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 โดย PM ย่อมาจาก Particulate matter ที่มีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมของมนุษย์ จึงทำให้สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่างถึงถุงลมปอด สามารถเข้าสู่กระแสเลือด และไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น หัวใจ สมอง และเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติทางร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ ทั้งจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการจราจร ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น ควรศึกษาวิธีการป้องกันหรือลดการรับสัมผัส PM 2.5 เพื่อสุขภาพของคุณและคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีความไวต่อ PM 2.5 และอาจเกิดผลกระทบทางสุขภาพ ได้แก่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ดังแสดงในรูปภาพ

รูปแสดงผลกระทบทางสุขภาพจาก PM 2.5


      การเลือกอุปกรณ์ป้องกันมลพิษทางอากาศนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการกรองอากาศเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการพิจารณาใช้เทคโนโลยีต่างๆ ต้องทราบถึงขนาดของอนุภาคที่ต้องการกรอง ดังแสดงในรูปภาพ


รูปแสดงประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองโดยแผ่นกรองชนิดต่างๆ

         

    เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการป้องกันฝุ่นละอองในท้องตลาดมีหลายประเภท ดังนี้

1. เครื่องกรองอากาศ

เครื่องกรองอากาศจะทำงานโดยดูดอากาศที่มีฝุ่นเข้ามาในเครื่อง และใช้ไส้กรอง/แผ่นกรองในเครื่องทำการกรองฝุ่นเหล่านั้นไว้ แล้วปล่อยอากาศที่เหลือออกจากเครื่อง ประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศขึ้นอยู่กับชนิดของไส้กรอง และค่า CADR หรือ Clean Air Delivery Rate เป็นค่าที่บอกว่าเครื่องกรองอากาศนี้สร้างปริมาณอากาศบริสุทธิ์ได้เท่าไรใน 1 นาที ถ้าตัวเลขมีค่าสูงแสดงว่ามีประสิทธิภาพการกรองอากาศได้ดี ตัวอย่างเช่น ไส้กรองชนิด HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) สามารถใช้กรองอนุภาคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน ได้อย่างน้อย 99.97% เช่น สามารถกรอง แบคทีเรีย ฝุ่น PM2.5 ไอ ฟูมของสารเคมี เป็นต้น

2. เครื่องฟอกอากาศชนิดที่มีตัวปล่อยประจุลบ

เครื่องฟอกอากาศชนิดนี้ จะปล่อยประจุลบออกจากเครื่อง ประจุลบช่วยกำจัดฝุ่นขนาดเล็กได้ เพราะฝุ่นขนาดเล็กที่ไม่รวมตัวกันเป็นฝุ่นใหญ่ มีสาเหตุจากที่ผิวนอกของฝุ่นควันส่วนมากจะมีประจุบวก ประจุบวกเหล่านี้จะทำให้อนุภาคฝุ่นแต่ละชิ้นผลักกันเอง และไม่รวมตัวกันเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ แต่เมื่อได้รับประจุลบจากเครื่องฟอกอากาศ ประจุบวกที่ผิวของฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้จะหมดไป ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กรวมตัวกัน กลายเป็นฝุ่นขนาดใหญ่

3. เครื่องปรับอากาศที่มีระบบปล่อยประจุลบ หรือ มีพัดลมที่ปล่อยประจุลบได้

เครื่องปรับอากาศชนิดนี้มีใช้ทั้งในบ้านและในรถ เครื่องปรับอากาศแบบนี้จะสามารถช่วยเรื่องกำจัดฝุ่นขนาดเล็กได้ ตามหลักการเดียวกับเครื่องฟอกอากาศชนิดที่มีตัวปล่อยประจุลบเช่นกัน

4. เครื่องปรับอากาศและพัดลมระบบธรรมดา 

สามารถช่วยลดฝุ่นขนาดใหญ่กว่า PM 2.5 ได้ โดยการถอดใบพัดและตะแกรงของพัดลมไปล้างให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง จากนั้น เมื่อเปิดทั้งเครื่องปรับอากาศและพัดลมพร้อมกัน ห้องที่มีสภาพอากาศเย็นและความชื้นต่ำ (เพราะเปิดเครื่องปรับอากาศ) จะทำให้บริเวณใบพัดและตะแกรงของพัดลม เกิดไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่งจะสามารถช่วยดูดฝุ่นให้ติดอยู่กับพัดลมได้พอสมควร

5. หน้ากาก (N95  N99  P100)

หากเราต้องออกไปนอกบ้าน/นอกรถ  และไม่มีเครื่องกรองหรือเครื่องฟอกอากาศติดตัวไปด้วย ก็จำเป็นต้องใช้ หน้ากาก ในการกรองฝุ่นขนาดเล็กนี้ หน้ากากที่ได้ผลดีที่สุด คือ เกรด N95  N99  P100 โดยควรใส่ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำบนฉลากหรือคู่มือการใช้

หน้ากากเหล่านี้ หากใช้เพื่อกรองฝุ่น PM 2.5 แบบนี้ จะสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง  ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นและปริมาณฝุ่นในอากาศ (กรณีที่ต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั้น จะเข้มงวดกับการใช้หน้ากากกลุ่มนี้สำหรับการกรองเชื้อโรคร้ายแรง เพราะถ้าใช้แล้วไม่ทิ้งทันที จะกลายเป็นการแพร่เชื้อโรค)

ถ้าไม่สามารถหาซื้อหน้ากากกลุ่มนี้ได้ หน้ากากแบบมีคาร์บอน (ที่บอกว่าใช้ป้องกันไอสารเคมี) ก็พอใช้ได้ และในกรณีนี้ก็สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นและปริมาณฝุ่นในอากาศเช่นกัน

หรือถ้าสุดท้ายแล้ว ยังไม่สามารถหาหน้ากากที่กล่าวมาแล้วได้ หน้ากากผ้าธรรมดานำมาชุบน้ำให้เปียกก็พอใช้งานได้ในช่วงเวลาสั้นๆ (ตามหลักการเดียวกับ เวลาเกิดไฟไหม้ มีควันมากมาย ให้เอาผ้าซับน้ำจนเปียกโชก ปิดจมูกไว้) แม้จะหายใจลำบากสักนิด ก็ยังดีกว่าสูดเอาฝุ่นควันละเอียดเข้าไป

 

หมายเหตุ บทความนี้มีเจตนาเพื่อให้ข้อมูลเชิงวิชาการเท่านั้น