สารเร่งดอกลำไย กับอันตรายที่เกษตรกรต้องระวัง
3,335 views    
    [27 มี.ค. 62]    

สารเร่งดอกลำไย กับอันตรายที่เกษตรกรต้องระวัง

       จากกรณี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ได้เกิดเหตุสารเร่งดอกลำไยระเบิดที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหาย 8 หลังและมีผู้บาดเจ็บ 3 คน โดยเจ้าของบ้านให้การว่าก่อนเกิดเหตุได้นำเคมีภัณท์ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ สารโซเดียมคลอเรต (สารเร่งดอกลำไย) น้ำหนัก 200 กก. สารยูเรียน้ำหนัก 50 กก. และยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสต จำนวน 2 กล่อง เก็บไว้รวมกันในโกดังหลังบ้าน ซึ่งขณะเกิดเหตุมีสภาพอากาศร้อน แดดแรง ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุในการระเบิด โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัด [1,2] ดังแสดงในรูปที่ 1 และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เมื่อชาวสวนผสมสารโพแทสเซียม-โซเดียม (สารเร่งดอกลำไย) เพื่อนำไปราดต้นลำไย แล้วเกิดระเบิดเสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตได้นำสารเร่งดอกลำไยจำนวน 3 ชนิด มาผสมเพื่อเก็บไว้ใช้งาน แต่ด้วยอากาศที่ร้อนจัดเป็นเหตุให้สารเร่งดอกลำไยจำนวน 75 กิโลกรัม เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง [3,4]  หลายท่านอาจมีคำถามสงสัยว่าสารดังกล่าวคืออะไร ทำไมสารถึงสามารถเกิดการระเบิดได้ วันนี้ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ มีคำตอบและข้อแนะนำในการป้องกันอุบัติเหตุมาฝากทุกท่านที่สงสัยในประเด็นดังกล่าว



        สารเร่งดอกลำไยออกนอกฤดู มีชื่อทางเคมีว่า โพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) หรือ โซเดียมคลอเรต (NaClO3) สารประกอบคลอเรตทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นสารออกซิไดซ์ชนิดรุนแรง และไม่ติดไฟ แต่จะให้ออกซิเจนจำนวนมาก จึงช่วยให้วัสดุหรือสารที่เผาไหม้อื่นๆ (เชื้อเพลิง) มีการลุกไหม้ได้ในระดับที่รุนแรง หลายท่านคงสงสัยว่าแล้วทำไมสารทั้งสองชนิดนี้ถึงสามารถเกิดการระเบิดได้ คำตอบคือ เกษตรกรที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งานและใช้งานสารเร่งดอกลำไยอย่างผิดวิธี ตัวอย่างเช่น มีการนำสารเคมีชนิดอื่น เช่น ไทโอยูเรีย มาผสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งดอกให้กับต้นลำไย ซึ่งสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเข้ากันไม่ได้กับสารประกอบคลอเรต เมื่อสารทั้งสองอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือเกิดการเสียดสีกันเองทำให้มีอุณหภูมิสูง จะเกิดการลุกไหม้ในระดับที่รุนแรงและเหนี่ยวนำทำให้เกิดการระเบิดได้   จากฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยของสารเคมี พบว่าสารที่มีคุณสมบัติเข้ากันไม่ได้กับโพแทสเซียมคลอเรตและโซเดียมคลอเรต ได้แก่ สารเคมีอินทรีย์ (เช่น ไทโอยูเรีย ยูเรีย) สารรีดิวซ์ สารประกอบแอมโมเนียม (เช่น ปุ๋ยจากเกลือแอมโมเนียม) กรดแก่ (เช่น กรดซัลฟูริค) เป็นต้น [5] นอกจากนี้การนำโพแทสเซียมคลอเรตและโซเดียมคลอเรต ที่ผิดประเภทมาใช้งานสำหรับเร่งดอกลำไย เช่น การแอบนำโพแทสเซียมคลอเรตที่เป็นยุทธภัณฑ์ซึ่งมีความเข้มข้นของโพแทสเซียมคลอเรตมากกว่า 15% และปราศจากการใส่สารลดความหน่วงในการระเบิด เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต บอแรกซ์ มาใช้งาน จะมีความไวต่อการเกิดปฏิกิริยาสูงและมีระดับความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าโพแทสเซียมคลอเรตสำหรับเร่งดอกลำไย [6]

        จากข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากการระเบิดของสารใช้เร่งดอกลำไยภายในประเทศ พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนหลายครั้ง ดังแสดงในตาราง โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในปี 2542 ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระดับที่มีความรุนแรงมากที่สุด

        จากตารางข้อมูลพบว่าอุบัติเหตุจากการระเบิดของสารใช้เร่งดอกลำไยยังคงมีเกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการทบทวนและปรับปรุงกันต่อไป อย่างไรก็ตามหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ คือ ความรู้ความเข้าใจและการตระหนักรู้ถึงอันตรายในการใช้งานสารเคมี โดยเฉพาะเมื่อทำงานเกี่ยวข้องกับสารที่มีความเป็นอันตรายสูง เช่น สารระเบิดได้ สารออกซิไดซ์ชนิดรุนแรง สารที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยา ผู้ทำงานควรศึกษาข้อมูลของสารจากฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารจากผู้จัดจำหน่าย หรือฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยของสาร เช่น PubChem ของ National Institute of Health ประเทศสหรัฐอเมริกา (เว็บไซด์: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของสารเคมีที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งทราบข้อมูลของสารที่เข้ากันไม่ได้กับสารที่ใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและสามารถทำงานกับสารเคมีได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

        สุดท้ายนี้ ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ขอแสดงความเสียใจต่อญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้และขอเป็นกำลังใจทุกท่านตรวจสอบอันตรายของสารเคมีก่อนใช้ ด้วยความรักและห่วงใยในความปลอดภัย จากศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ

เอกสารอ้างอิง 

1) สำนักข่าวไทยรัฐ. สารเร่งลำไยระเบิด อบไว้ในโกดัง บึมสนั่นที่จอมทอง เจ็บ3. [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 21 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก:https://www.thairath.co.th/content/1524516

2) สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์. บึ้มสนั่น! อากาศร้อนจัด สารเร่งลำไยระเบิด โกดังชาวสวนเชียงใหม่พังยับ-เจ็บ 3. [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 21 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/local/detail/9620000027823

3) สำนักข่าว INN. หนุ่มผสมสารเร่งลำไย เตรียมเอาไปราด แต่ผสมพลาดกลับระเบิดร่างแหลก. [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://hilight.kapook.com/view/184808

4) ศักดิ์ชัย อยู่สุขสวัสดิ์. สารราดลำใยระเบิด ร่างแหลกแหลก. [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.77kaoded.com/content/346121

5) Pubchem. Potassium Chlorate: Reactivities and Incompatibilities. [อินเทอร์เน็ต]. 2562. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/potassium_chlorate#section=Reactivities-and-Incompatibilities

6) ชาติชาย ศิริพัฒน์. สารเร่งดอกลำไยระเบิด อนิจจา..คอกผุล้อมวัวไม่ได้. [อินเทอร์เน็ต]. 2557. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/content/464538

7) มูลนิธิบูรณะนิเวศ.  โรงงานอบลำไยระเบิด. [อินเทอร์เน็ต]. 2554. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://earththailand.org/th/pollution/29?fbclid=IwAR3r7URreLBSI5d1P7jCnr5HMiKZdFGrkmsnFKTNXuoMgyBsCGcO7dw_4Y

8) MGR Online. บึ้มสนั่น! โรงงานลำไยระเบิดสนั่นลำพูน-อาคารพัง คนงานพม่าเจ็บ. [อินเทอร์เน็ต]. 2557. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/local/detail/9570000105342

9) ทีมข่าวภูมิภาค ไทยรัฐ. สารเร่งลำไยบึม! บ้านไร่ดอยเต่าเชียงใหม่ สูญหาย 2 เจ็บระนาว (ชมคลิป). [อินเทอร์เน็ต]. 2557. [เข้าถึงเมื่อ 8 มี.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thairath.co.th/content/461529