10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
5,605 views    
    [10 พ.ค. 62]    

10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

          สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมอันเกิดขึ้นจากการละเลยในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม มีลูกจ้างเสียชีวิต 188 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 469 ราย ทำให้สังคมเกิดความตระหนักในอันตรายและผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานมากขึ้น

         หลังจากนั้น ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนและดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในหลายๆ เรื่อง ประการแรกคือ การมีนโยบายแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่กำหนดให้แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี  (Safety Thailand) ซึ่งเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประการที่สอง การมีแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ และประการที่สาม การมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

         นอกจากนี้ ได้มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานนานาชาติ โดยได้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 เป็นการส่งเสริมในมีการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

         ดังนั้นในวันที่ 10 พฤษภาคม จึงถือเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เป็นวันแห่งการย้ำเตือนกระตุ้นให้สังคมได้รับทราบในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานอย่างอย่างต่อเนื่องและปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “Safety Thailand” ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์

        ในบทบาทของศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ โดยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยส่งเสริมการปฏิบัติตามนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อลดอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานของประชาคมจุฬา ฯ ให้เป็นศูนย์

(อ้างอิง: กระทรวงแรงงาน, 2559;

สสปท., 2560)