คำถามที่พบบ่อย (COVID-19)
1,189 views    
    [30 มี.ค. 63]    
   กรณีนิสิตและบุคลากร จุฬาฯ ติด COVID - 19 จะมีแนวปฏิบัติอย่างไร



   หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) ทำความสะอาดและใช้ซ้ำได้หรือไม่ และในช่วงที่ขาดแคลน หน้ากากอนามัยทางการแพทย์บุคคลทั่วไปควรทำอย่างไร

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นแบบใช้ครั้งเดียวและควรเปลี่ยนวันละครั้ง ไม่สามารถซักรีดหรือพ่นแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ในช่วงที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์การใช้ซ้ำขอให้พิจารณาดังนี้ ไม่ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังสัมผัส หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ใช้เก็บ ไม่สัมผัสด้านในของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เก็บหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในที่สะอาด หากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชำรุด เปียกชื้น หรือเปรอะเปื้อนควรเปลี่ยนชิ้นใหม่ และการดัดแปลงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ด้วยวิธีใด ๆ ต้องคำนึงถึงความแนบกระชับกับใบหน้าและความสะดวกในการหายใจ ทั้งนี้ ทางเลือกหนึ่งในช่วงที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องเข้าไปในสถานที่แออัดคือ การใช้หน้ากากผ้าแบบที่มีอย่างน้อย 2 ชั้น ทำจากผ้าที่มีประสิทธิภาพในการกันละอองน้ำได้ดี เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ดี และสามารถซักแล้วนำกลับมาใช้งานได้หลายครั้ง เช่น ผ้าฝ้ายมัสลิน ในปัจจุบันมีนักวิจัยศึกษาวิธีต่าง ๆ เพื่อฆ่าเชื้อบนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากาก N95 แล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ แต่ขณะนี้กรณีของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพเผยแพร่ ส่วนกรณีของหน้ากาก N95 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยแพร่วิธีการสำหรับโรงพยาบาล รายละเอียดดังลิงก์

- วิธีการฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนบนหน้ากาก มี 3 วิธี https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/747

- ขั้นตอนการทำความสะอาดหน้ากาก N95 เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/749

- การส่งหน้ากาก N95 เพื่อรมฆ่าเชื้อด้วย ไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/750


   บุคคลทั่วไปจำเป็นต้องใส่กระบังหน้า (face shield) หรือไม่

บุคคลทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมกระบังหน้า กระบังหน้าไม่สามารถใช้ทดแทนการใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ได้เนื่องจากยังมีช่องให้ไวรัสเข้าสู่จมูก ปาก และตาได้แต่ถ้าจะใส่กระบังหน้าต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ด้วย ทั้งนี้กระบังหน้าที่ทำจากพลาสติกบางและไม่คงรูปจะยิ่งลดความปลอดภัยลงด้วย และการใส่กระบังหน้าโดยใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปลอดภัย (false sense of security) สำหรับบุคคลทั่วไปการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 2 เมตร (2 ฟุต) จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

   กรณีมีบุคลากรในสังกัดเป็น COVID-19 หรือต้องการขออนุญาตจัดกิจกรรมที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ต้องติดต่อที่ใดในจุฬาฯ

สามารถส่งเอกสารถึงประธานกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล) ผ่านระบบ LessPaper โดยส่งถึงเลขาฯ คุณปุญณพร พ่วงตระกูล

   เมื่อเข้าไปในโรงพยาบาลหรือตลาดสดบุคคลทั่วไปจำเป็นต้องสวมถุงคลุมรองเท้า (shoe cover) หรือไม่

บุคคลทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมถุงคลุมรองเท้า แต่หลังจากการสัมผัสรองเท้าแล้วควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสรองเท้าของผู้อื่น

   บุคคลทั่วไปจำเป็นต้องสวมถุงมือยาง (disposable latex gloves) เวลาออกนอกบ้านหรือไม่

บุคคลทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมถุงมือยาง เนื่องจากการล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุก่อโรค COVID-19

   หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากบ้านเรือนในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีวิธีการทิ้งอย่างไร

วิธีการทิ้งขยะจากบ้านเรือนในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีดังนี้ คัดแยกขยะเป็น 3 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ให้นำขยะแต่ละประเภทใส่ถุงและมัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในถังแต่ละประเภทหรือจุดรวบรวมขยะเพื่อรอการเก็บขน สำหรับขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กระดาษทิชชู ให้นำใส่ถุงแยกจากขยะประเภทอื่น ปิดปากถุงให้แน่น และทำให้พนักงานเก็บขนขยะทราบว่าเป็นขยะปนเปื้อนสารคัดคลั่ง เช่น เขียนระบุไว้บนถุง ทิ้งลงในถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิดหรือทิ้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้แล้วในถังรองรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์โดยเฉพาะ จากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์

   การสัมผัสสิ่งของและการใช้ส้วมสาธารณะในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ควรทำอย่างไร

การสัมผัสจุดที่มีการสัมผัสบ่อยในที่สาธารณะ เช่น ปุ่มกดลิฟต์กลอนหรือลูกบิดประตู ราวจับหรือราวบันได หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วหรือฝ่ามือสัมผัสอาจใช้บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ข้อศอก หลังมือ หรืออุปกรณ์อื่นแทน เช่น ปากกา หลังการสัมผัสให้ล้างมือและบริเวณที่สัมผัสให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง กรณีใช้ส้วมสาธารณะควรลดการสัมผัสพื้นผิวและอุปกรณ์ภายในห้องส้วมปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดล้างเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองจุลินทรีย์ก่อโรค ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดหลังการใช้ส้วม และงดใช้อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดมือ

   การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทั่วไปสามารถฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของ COVID-19 ได้หรือไม่

การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทั่วไปสามารถฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ โดยล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที 7 ขั้นตอน เพื่อให้ล้างมือได้อย่างทั่วถึง ดังรูป

   การใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องทำอย่างไร

การใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องมีดังนี้

1. หากใช้ครั้งแรกควรทดสอบการแพ้ก่อน โดยทาเจลแอลกอฮอล์ปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขนและทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง สังเกตความผิดปกติ ได้แก่ ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน บวม หากมีอาการดังกล่าวต้องหยุดใช้ หากไม่มีอาการผิดปกติสามารถใช้ได้ตามปกติ

2. เทเจลแอลกอฮอล์ 3-5 มิลลิลิตร ลงบนฝ่ามือ ถูให้ทั่วทั้ง 2 มือ ดังรูป นาน 20 วินาที และปล่อยให้แห้ง

3. เจลแอลกอฮอล์มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมากและสามารถติดไฟได้ หากทาบนมือแล้วยังไม่แห้งควรหลีกเลี่ยงเปลวไฟ

4. ไม่ควรใช้เจลแอลกอฮอล์กับทารกและบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา หรือผิวที่อักเสบ ทั้งนี้ หากผิวสัมผัสแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ผิวจะแห้งได้

5. ควรเก็บเจลแอลกอฮอล์ในภาชนะปิดสนิท ในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดดและไม่ร้อน เนื่องจากจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหยและความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดลงได้

   มีวิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์เพื่อไม่ให้ได้รับผลิตภัณฑ์ปลอมอย่างไร

วิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์มีดังนี้

1. ซื้อจากร้านขายยาหรือร้านที่น่าเชื่อถือ

2. อ่านฉลากเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70%

3. ภาชนะบรรจุต้องปิดสนิท เพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ เมื่อเปิดใช้แล้วเจลแอลกอฮอล์ไม่มีลักษณะที่ผิดปกติ เช่น ไม่เกิดการแยกชั้น เปลี่ยนสี จับเป็นก้อน หรือตกตะกอน

 4. ตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ภายใต้หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” ซึ่งในรายละเอียดการจดแจ้งเครื่องสำอางต้องแสดงเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกายรูปแบบใช้แล้วไม่ล้างออก หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ

   การฉีดพ่นแอลกอฮอล์หรือคลอรีน หรือฉายแสงยูวีตามร่างกายสามารถป้องกัน COVID-19 ได้หรือไม่

ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นแอลกอฮอล์หรือคลอรีน หรือฉายแสงยูวีตามร่างกายเนื่องจากการแอลกอฮอล์ คลอรีน หรือแสงยูวีอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตาได้วิธีที่ง่ายและได้ผลดีคือ การอาบน้ำและสระผมทันทีเมื่อกลับบ้าน ส่วนเสื้อผ้าแนะนำให้ใช้เครื่องซักผ้าโดยซักด้วยผงซักฟอกและน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส หากไม่สามารถใช้เครื่องซักผ้าได้ให้แช่ผ้าด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ความเข้มข้น 0.05% หรือ 500 ppm ประมาณ 30 นาที ก่อนนำไปซักตามปกติและผึ่งแดดให้แห้ง

   น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับพื้นผิววัสดุต่าง ๆ เพื่อป้องกัน COVID-19 ที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและมีอะไรบ้าง

คำแนะนำโดยทั่วไปในการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในบ้านเรือนสำหรับพื้นผิววัสดุเพื่อ COVID-19 และตัวอย่างสารฆ่าเชื้อแสดงดังรูป


   การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

การเว้นระยะห่างทางสังคม คือการสร้างระยะห่างทางกายภาพระหว่างตัวเราเองกับบุคคลอื่น นับเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยลดการสัมผัสทำให้ลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น เช่น ยืนหรือนั่งห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร (6 ฟุต) ระวังการสัมผัสสิ่งของสาธารณะสื่อสารผ่านโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์ ทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) เรียนออนไลน์ รับประทานอาหารที่เป็นชุดสำหรับคนเดียว ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ งดเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้อื่น

   ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หากต้องหยุดอยู่บ้านซึ่งมีพื้นที่จำกัดเป็นเวลานานและเกิดความเครียดจะรับมืออย่างไร

คำแนะนำการรับมือกับความเครียดเมื่อต้องหยุดอยู่บ้านซึ่งมีพื้นที่จำกัดเป็นเวลานานในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีดังนี้

1. ติดต่อพูดคุยกับคนที่ไว้วางใจ เพื่อน หรือครอบครัว เพื่อช่วยรับมือกับความเครียด

2. รักษาสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายอยู่เสมอ

3. ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด เพื่อขจัดความเครียด หากรู้สึกรับไม่ไหวให้พูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาหรือบุคลากรทางการแพทย์

4. ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ COVID-19 จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกหรือกระทรวงสาธารณะสุข เพื่อจะได้ระมัดระวังตัวเองอย่างเหมาะสม

5. ลดเวลาการดูหรือฟังรายงานข่าวจากสื่อจนทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

6. นำทักษะที่เคยใช้จัดการกับความทุกข์ในอดีตมาใช้รับมือกับสถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน