แก๊สแอมโมเนียรั่ว หนีตายระทึก!!!
738 views    
    [17 ม.ค. 61]    
   

สารแอมโมเนีย ในรูป แอมโมเนีย แอนไฮดรัส  นิยมใช้เป็นสารทำความเย็นในอุตสาหกรรมห้องเย็น เช่น  โรงงานผลิตน้ำแข็ง และห้องแช่แข็ง เป็นต้น แอมโมเนีย เป็นสารที่มีความอันตรายมากเมื่อมีการรั่วไหลสู่บรรยากาศ แก๊สแอมโมเนีย เป็นแก๊สไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง ระคายเคือง มีคุณสมบัติเป็นแก๊สพิษ และกัดกร่อน มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อมนุษย์ ทำให้แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากรับสารในปริมาณมากทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ทันที  

ในประเทศไทย เกิดอุบัติเหตุแก๊สแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานอยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นเหตุการณ์ ก๊าซแอมโมเนียห้องเย็นแช่แข็งอาหารทะเล สมุทรปราการ ทำให้คนงาน และชาวบ้านในบริเวณนั้นมีอาการแสบคอ แสบตา และอาเจียน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่สูดดมแก๊สแอมโมเนียเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเหตุการณ์ไว้ได้ โดยปิดวาล์วแก๊ส และฉีดพ่นน้ำเพื่อสลายแก๊สแอมโมเนีย 


ที่มา:  http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/788853

ช่างประจำโรงงาน ให้การว่า ได้สั่งการให้ผู้ช่วยช่างคนใหม่เข้าไประบายน้ำออกจากถังแก๊สแอมโมเนีย แต่ผู้ช่วยช่างลืมปิดสต๊อปวาล์ว (Stop Valve) ทำให้วาล์วยังคงเปิดอยู่ตลอดการทำงาน ด้วยความตกใจผู้ช่วยช่างคนดังกล่าววิ่งหนีออกมาจากจุดเกิดเหตุ และตัวช่างประจำโรงงานไม่สามารถเข้าไปปิดวาล์วได้ เนื่องจากชุดอุปกรณ์ป้องกันอยู่ในห้องที่เกิดเหตุจึงเข้าไปไม่ได้

จากเหตุการณ์นี้ วิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดจากผู้ปฏิบัติงาน (Human error) คือ 

1. . ผู้ปฏิบัติงานไม่มีความชำนาญในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นพนักงานใหม่

2. ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีอันตราย

3. ผู้ปฏิบัติงานละเลยการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE)

*** ข้อเสนอแนวทางการป้องกัน มีดังนี้

1. ผู้ปฏิบัติงานจะต้องผ่านการฝึกอบรมงานด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการทำงานกับสารเคมีอันตราย

2. หากเป็นพนักงานใหม่ ควรมีผู้ที่เชี่ยวชาญกำกับดูแลขณะปฏิบัติงาน

3. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ทุกครั้งเมื่อปฏิบัติงาน ได้แก่ แว่นตานิรภัย (ชนิดปิดข้าง) หน้ากาก อุปกรณ์กรองอากาศหายใจ (ตลับดูดซับไอระเหยแอมโมเนีย) ถุงมือยางกันสารเคมี และรองเท้านิรภัยกันสารเคมี

4. ตรวจเช็คภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบท่อ ระบบวาล์ว อย่างสม่ำเสมอ

5. จัดให้มีการซ้อมแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้รับมือกับสถานการณ์จริงได้อยู่ปลอดภัย

6. อุปกรณ์ตอบโต้เหตุฉุกเฉินควรจัดวางในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย หยิบใช้งานได้สะดวก และห่างจากจุดที่อันตราย