น้ำทะเลหนุน น้ำประปาเค็ม กลุ่มเสี่ยงควรเลี่ยงบริโภค
4,535 views    
    [5 ก.พ. 64]    

น้ำประปาเค็ม ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินมาตรฐาน  (ข้อมูลกุมภาพันธ์ 2564)
     สภาวะภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อย และน้ำทะเลหนุนสูง เป็นเหตุทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ส่งผลให้น้ำประปามีความเค็มในบางช่วงเวลา 
     ค่าความเค็ม (Salinity) ของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ในระยะนี้มีค่าความเค็มที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด (ค่าความเค็มของแม่น้ำต้องไม่เกิน 1.2 กรัมต่อลิตร) (1) จากการตรวจวัดความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดที่ความเค็มสูงเกินมาตรฐาน พบตามสถานีต่าง ๆ เช่น สถานีเทเวศร์ มีค่าความเค็มของน้ำ 10.6 กรัมต่อลิตร และสถานีบางกอกใหญ่ มีค่าความเค็มของน้ำ 9.6 กรัมต่อลิตร 

มาตรฐานความเค็มของน้ำดื่ม
     องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มของน้ำประปาและการยอมรับของผู้บริโภคเอาไว้ โดยกำหนดให้มีโซเดียมในน้ำไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร(2) ถ้ามีค่ามากเกินกว่านี้จะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็ม
     เมื่อกำหนดให้ปกติเราดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วหรือมีปริมาตร 1.5–3 ลิตรต่อวัน สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมที่อาจจะได้รับต่อวันได้ดังนี้ (3)
ดื่มน้ำที่มีโซเดียม          80       มิลลิกรัมต่อลิตร  เราจะได้รับโซเดียม        120-240 มิลลิกรัมต่อวัน
ดื่มน้ำที่มีโซเดียม          200     มิลลิกรัมต่อลิตร  เราจะได้รับโซเดียม        300-600 มิลลิกรัมต่อวัน
ดื่มน้ำที่มีโซเดียม          400     มิลลิกรัมต่อลิตร  เราจะได้รับโซเดียม        600-1200 มิลลิกรัมต่อวัน
ดื่มน้ำที่มีโซเดียม          600     มิลลิกรัมต่อลิตร  เราจะได้รับโซเดียม        900-1800 มิลลิกรัมต่อวัน
     ช่วงนี้น้ำประปามีความเค็มจากการมีคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด  ส่งผลต่อความน่าดื่มของน้ำประปา ผู้บริโภคจึงรู้สึกถึงความเค็มของน้ำประปาที่มาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร

น้ำประปาเค็มส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
     องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ควรบริโภคโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน จากภาวะน้ำประปาเค็ม ยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง  แต่จะทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสจะได้รับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ถ้าเราดื่มน้ำ 1.5–3 ลิตรต่อวัน โดยน้ำดื่มมีโซเดียม 200-400 มิลลิกรัมต่อลิตร อาจทำให้ได้รับโซเดียมจากน้ำดื่มสูงถึง 1200 มิลลิกรัมต่อวัน และเราจะได้รับจากการบริโภคอาหาร เช่น เกลือ น้ำปลา ผงชูรส ขนมอบกรอบต่าง ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน ที่จะก่อให้เกิดโรคหรือส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้บริโภค
     ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ควรเลี่ยงบริโภคน้ำประปาในช่วงนี้ และควรดื่มน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน หรือควรบริโภคน้ำที่ผ่านกระบวนการที่ทำให้บริสุทธิ์ เช่น น้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบ reverse osmosis (หรือที่นิยมเรียกว่า ระบบอาร์โอ)

ตัวอย่างของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำประปาเค็ม
     กรุงเทพมหานคร อำเภอพระประแดง อำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี (4)


ที่มา   (1)  https://www.thairath.co.th/news/politic/2026416
          (2)  https://ngthai.com/environment/27078/saltypublicwater/
          (3)  บทความ: น้ำดื่ม เค็มได้แค่ไหน ? (chula.ac.th)
          (4)  
https://mgronline.com/infographic/detail/9640000010694