“ปลั๊กพ่วง” ความเสี่ยงที่ถูกมองข้าม
7,365 views    
  น.ส.พีรดา สุนทระ  [18 พ.ค. 64]    

          “ปลั๊กพ่วง เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เราสามารถพบเจออุปกรณ์ชนิดนี้ได้เกือบทุกที่ที่มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้งานตามจุดต่าง ๆ ได้สะดวก ทั้งยังช่วยให้สามารถใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่องได้ในคราวเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเต้ารับมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง หรือตำแหน่งเต้ารับที่ไม่สอดคล้องกับจุดที่ต้องการใช้งาน แต่เราจะทราบได้อย่างไร ว่าสามารถใช้งานปลั๊กพ่วงได้อย่างถูกวิธี และปลั๊กพ่วงที่ใช้งานเป็นปลั๊กที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน”

          ข่าวการเกิดเพลิงไหม้ต่าง ๆ ที่ผ่านมา มักพบว่าปลั๊กพ่วงเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้น การเลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานและใช้งานอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้ได้

          เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (10 พฤษภาคม) ประจำปี 2564 ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) จึงได้จัดกิจกรรมการสำรวจปลั๊กพ่วงในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย ในระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2564 ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ปลั๊กพ่วงอย่างปลอดภัย จากกิจกรรมดังกล่าว มีนิสิตและบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจร่วมส่งแบบสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 93 คน จาก 34 ส่วนงาน โดยแบ่งเป็นนิสิต 20 คน และบุคลากร 73 คน ทั้งนี้จากแบบสำรวจที่มีข้อมูลครบถ้วนทั้งหมด 76 ฉบับ สามารถสรุปลักษณะการใช้งานของปลั๊กพ่วงที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตรายได้ 2 ประเด็น หลัก ดังนี้

          1) การใช้ปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน จากข้อมูลในแบบสำรวจ พบว่าในจำนวนปลั๊กพ่วงทั้งหมดที่มีการใช้งาน เป็นปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 46 หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของปลั๊กพ่วงทั้งหมด 141 อัน ดังแสดงในรูปที่ 1-3

รูปที่ 1 สัดส่วนระหว่างการใช้ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน




รูปที่ 2 ตัวอย่างการใช้ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน
รูปที่ 3 ตัวอย่างการใช้ปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน (เต้ารับไม่มีขั้วสายดินและไม่มีตัวม่านปิดช่อง ไม่มีสวิตช์เปิด-ปิด และฟิวส์ช่วยตัดกระแสไฟฟ้า) หากใช้งานเกินกำลังอาจก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ได้


          2) การใช้งานปลั๊กพ่วงเกินกำลังไฟฟ้าที่ปลั๊กพ่วงรองรับได้ เนื่องจาก การใช้ปลั๊กพ่วงต่อกันเป็นทอด ๆ (ปลั๊กพ่วง ต่อปลั๊กพ่วง) และการใช้ปลั๊กพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าสูงหลายเครื่องร่วมกัน เช่น ตู้ไมโครเวฟ กาต้มน้ำ เตาไฟฟ้า เป็นต้น จากข้อมูลในแบบสำรวจ พบผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในลักษณะนี้ 20 ราย จากทั้งหมด 68 ราย หรือ ร้อยละ 29 ดังแสดงในรูปที่ 4-5

รูปที่ 4 สัดส่วนระหว่างผู้ใช้ปลั๊กพ่วงที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง



รูปที่ 5 ตัวอย่างการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันจำนวนมากในปลั๊กพ่วงแต่ละตัว  และการใช้ปลั๊กพ่วงต่อกันเป็นทอด ๆ (ปลักพ่วง ต่อปลั๊กพ่วง) ซึ่งอาจทำให้กำลังไฟฟ้ารวมเกินขนาดที่ปลั๊กพ่วงสามารถรองรับได้ อาจก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ได้

นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วนไม่ทราบลักษณะของปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน ไม่ทราบวิธีการดูกำลังไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดซึ่งจะทำให้ไม่สามารถพิจารณาเลือกใช้ปลั๊กพ่วงที่สามารถรองรับกับกำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม ไม่ทราบถึงความเป็นอันตรายของการต่อปลั๊กพ่วงเป็นทอด ๆและใช้ปลั๊กพ่วงที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย เช่น เก่า ชำรุด เป็นต้น ดังแสดงในรูปที่ 6


รูปที่ 6 ตัวอย่างการใช้ปลั๊กพ่วงที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย ได้แก่ ปลั๊กพ่วงไม่ได้มาตรฐาน เก่า ชำรุด  และต่อขยายเต้าเสียบเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เกิดอันตรายจากกำลังไฟฟ้ารวมเกินขนาดที่ปลั๊กพ่วงสามารถรองรับได้ ส่งผลให้สายไฟได้รับความร้อนสูงอาจก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้ได้

ทั้งนี้ เพื่อลดอันตรายจากการใช้ปลั๊กพ่วง มีข้อแนะนำดังนี้
1) เลือกซื้อชุดปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. 2432-2555
2) สังเกตว่ามีเครื่องหมาย มอก. และเลข มอก. 2432-2555 ระบุอยู่ที่ปลั๊กพ่วง ดังแสดงในรูปที่ 7

รูปที่ 7 ตัวอย่างของปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. 2432-2555


3) ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. 2432-2555 จะมีลักษณะดังนี้
- เต้ารับต้องมีขั้วสายดิน และมีตัวม่านปิดช่อง
- เต้าเสียบ เป็นชนิดขากลม 3 ขา มีฉนวนกันกระแสไฟฟ้าที่โคนขาปลั๊กไฟ 2 ขาเพื่อป้องกันการสัมผัสโคนขาปลั๊กไฟ
- มีอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน (สำหรับปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับ ตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป)

รูปที่ 8 ภาพแสดงลักษณะของปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐาน มอก. 2432-2555


4) เลือกซื้อปลั๊กพ่วงให้มีกำลังไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้รวมกันทั้งหมด กับปลั๊กนั้น ๆ (เช่น ใช้หม้อหุงข้าวกำลังไฟฟ้า 1,000 วัตต์ เตาไมโครเวฟ กำลังไฟฟ้า 800 วัตต์ ควรเลือกซื้อปลั๊กพ่วงให้มีขนาดกำลังไฟฟ้า ตั้งแต่ 2,000 วัตต์ ขึ้นไป)
5) ไม่ใช้ปลั๊กพ่วงต่อกับปลั๊กพ่วงเป็นทอด ๆ (ต่อแบบอนุกรม) เนื่องจากจะทำให้มีกำลังไฟฟ้ารวมเกินขนาดของปลั๊กพ่วง อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
6) ตรวจสอบสภาพปลั๊กพ่วงก่อนใช้งานทุกครั้ง เช่น เต้ารับ-เต้าเสียบไม่ชำรุด สายไฟไม่มีรอยขาด รอยไหม้
7) ในการใช้งานปลั๊กพ่วง เต้ารับและเต้าเสียบ ต้องเสียบได้พอดีกัน ไม่แน่นและไม่หลวมจนเกินไป
8) ไม่ควรเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้งานหลายเครื่องพร้อมกัน
9) ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า และป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร


“ปลั๊กพ่วงที่ได้มาตรฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความปลอดภัยเพื่อการใช้งานเบื้องต้นเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้งานอย่างถูกวิธีหากมีสองสิ่งนี้ควบคู่กันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการใช้ปลั๊กพ่วงได้อย่างแน่นอน”


คลิปวิดีโอ ข้อแนะนำการใช้ปลั๊กพ่วง https://www.youtube.com/watch?v=AjJw5v0g4vA


ที่มา
1) 
กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
2) แบบสำรวจการใช้ปลั๊กพ่วงในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย ของนิสิตและบุคลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2564 เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ (10 พฤษภาคม) ประจำปี 2564 โดยศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 “ปลั๊กพ่วง” ความเสี่ยงที่ถูกมองข้าม (416 KB)