เรียนรู้ สไตรีนโมโนเมอร์ สารเคมีอันตรายจากเหตุการณ์ที่กิ่งแก้ว
1,388 views    
  ดร.องอาจ ธเนศนิตย์  [6 ก.ค. 64]    

          สไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีอันตราย ที่มีความไวไฟ และมีความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ตัวอย่างของพิษแบบเฉียบพลัน เช่น สามารถก่อการระคายเคืองทั้งต่อผิวหนังและดวงตา ก่อการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หากสูดดมจะทำให้เกิดอาการมึนงง เวียนศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และหมดสติ ตัวอย่างของพิษแบบเรื้อรัง เช่น สามารถทำลายระบบประสาท, ระบบสร้างเลือด, ตับ และระบบประสาทส่วนกลาง ก่อการกลายพันธุ์ รวมทั้งก่อมะเร็งได้

          สไตรีนโมโนเมอร์เป็นโมโนเมอร์ชนิดที่ไม่อิ่มตัว สามารถเกิดโพลิเมอร์ไรเซชันได้ง่าย สามารถทำปฏิกิริยารวมตัวกับโมโนเมอร์ชนิดเดียวกันได้ หรือที่เรียกว่า “self-polymerisation” ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม หากปล่อยให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นปฏิกิริยาที่ควบคุมไม่ได้ (uncontrolled polymersation) ซึ่งจะมีการคายความร้อนในปริมาณมาก สามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดไฟไหม้ และเกิดการระเบิดได้ โดยทั่วไป มักมีการใส่สารยับยั้งการเกิดปฏิกิริยา (inhibitor) ที่เหมาะสมลงในสไตรีนโมโนเมอร์ เช่น 4-tert-butyl-cathecol (TBC)  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการจัดการสารเคมี

          สไตรีนโมโนเมอร์จัดเป็นสารแอโรมาติกไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่ง มีสูตรทางเคมี “C8H8” ดังนั้น เมื่อเกิดการลุกไหม้จะให้ก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เขม่าควัน รวมทั้ง ไอระเหยของสไตรีนปนเปื้อนร่วมด้วย หากสไตรีนโมโนเมอร์เกิดการลุกไหม้จากถังบรรจุ  อุณหภูมิภายในของถังบรรจุจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อความเสถียรของสารยับยั้งการเกิดปฏิกิริยา (ลดความเสถียรของสาร) และเป็นสาเหตุในการเกิด uncontrolled polymersation ของ สไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดไฟไหม้ และเกิดการระเบิดขึ้นได้

          ในกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานพลาสติกที่ซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลากว่า 24 ชั่วโมง ในการดับเพลิงที่ลุกไหม้ได้จนสำเร็จ ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณรัศมีโดยรอบที่เกิดเหตุ 10 กิโลเมตร ยังคงมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อผลกระทบของสารเคมีที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเกิดขึ้นในระดับวงกว้าง คือ ควันพิษของสารเคมี ซึ่งแผ่กระจายรัศมีไกลประมาณ 10 กิโลเมตร ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวหรือใกล้เคียง ควรระมัดระวังอันตรายที่เกิดขึ้นจากการสูดดมไอสารเคมี รวมทั้ง การสัมผัสสารเคมีผ่านผิวหนังและดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายของสารเคมีที่มีไอสารเคมีที่หนักกว่าอากาศ เช่น ไอระเหยของสไตรีน ควรหลีกเลี่ยงในการเข้าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือ เช่น หน่วยงานของรัฐ (อาทิ กรมควบคุมมลพิษ) หรือถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจที่มีความเหมาะสม เช่น หน้ากากกรองก๊าซและไอระเหย ชนิดตลับกรองสารเคมี (cartridge respirator) โดยชนิดของตลับกรองที่ใช้งาน ต้องสามารถป้องกันไอระเหยจากสารอินทรีย์ได้ สำหรับการใช้หน้ากาก N-95 และเครื่องทำความสะอาดอากาศโดยทั่วไป ที่ใช้แผ่นกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) จะสามารถกรองได้เพียงเขม่าและละอองลอยของสารเคมี แต่ไม่สามารถป้องกันไอระเหยของสไตรีนได้ อีกประเด็นที่มีความกังวลไม่น้อย คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำรอบพื้นที่ที่มีควันพิษปกคลุม ซึ่งอาจได้รับการปนเปื้อนจากสารเคมี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฝนตกหลังจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นไม่นาน ซึ่งอาจชะไอสารเคมีและนำสารเคมีปนเปื้อนแหล่งน้ำได้) จากข้อมูลด้านความปลอดภัยของสไตรีน พบว่าสไตรีนสามารถถูกย่อยสลายทางชีวภาพ (biodegradation) ได้ อีกทั้ง สามารถสะสมในทางชีวภาพ (bioaccumulation) ได้น้อยเช่นกัน แต่สามารถลดการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) ได้มีการชี้แจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำประปาแต่อย่างใด เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพของน้ำปาอย่างเข้มงวด รวมทั้ง มีแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ สำหรับประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณรัศมีโดยรอบที่เกิดเหตุ 10 กิโลเมตร หากมีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ภายนอกบ้าน มีข้อแนะนำให้ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสารเคมี2

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุดังกล่าวนี้ และส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก คือ การที่โรงงานที่ประสบเหตุ ขาดการบริหารความเสี่ยงสารเคมีที่ดี (เพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและควบคุมอันตราย ๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงงาน) รวมทั้ง ขาดการจัดทำ emergency response plan ที่มีประสิทธิภาพ เราคงไม่อยากให้อุบัติเหตุในรูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ดังนั้น อุบัติเหตุดังกล่าวควรได้รับการถอดบทเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของโรงงานสารเคมีที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง และความปลอดภัยของเราทุกคน


เอกสารอ้างอิง 

1. PlasticsEurope (2018). Styrene Monomer: Safe Handling Guide [online]. Available at: <https://www.plasticseurope.org/application/files/6115/4453/7896/Styrene_HSE_brochure_EN_20181211.pdf> [Accessed 6 Jul. 2021].

2. ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ (2021). กปน. ย้ำน้ำประปาปลอดภัย เหตุระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว ไม่กระทบคุณภาพ. [online]. Available at: https://www.prachachat.net/general/news-706358 [Accessed 6 Jul. 2021].



 เรียนรู้ สไตรีนโมโนเมอร์ สารเคมีอันตรายจากเหตุการณ์ที่กิ่งแก้ว (109 KB)