12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน
440 views    
  นางสาวธมลวรรณ หิรัญสถิตย์พร  [12 พ.ย. 64]    

            เมื่อ 36 ปีที่แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม  โดยการโอนภารกิจบางส่วนจากกระทรวงมหาดไทย (ปี พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กระทรวงแรงงาน) ซึ่งในปี 2549 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  กำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องให้มี “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” โดยบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน คือเป็นบุคคลที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงาน ให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับความปลอดภัย ควบคุมและดูแลการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัย พร้อมตรวจสภาพการทำงานของลูกจ้าง เพื่อความปลอดภัย

            ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) จึงเล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินการจัดให้ทุกส่วนงานแต่งตั้งบุคลากรเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานประจำส่วนงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ ศปอส. ยังดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดในการทำงานทั้งในระดับหัวหน้างานและระดับบริหาร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ การดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้กับประชาคมชาวจุฬาฯ  

            ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีจำนวนเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานประจำส่วนงานทั้งหมด 70 คน จาก 34 ส่วนงาน คิดเป็นร้อยละ 85 ของส่วนงานทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านชีวภาพ 12 คนและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านรังสี 13 คน นอกจากนี้มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารจำนวน 133 คน จาก 29 ส่วนงาน และมีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานทั้งหมด 336 คน จาก 47 ส่วนงาน

            นอกจากนี้ ศปอส. ได้สนับสนุนให้ส่วนงานมีตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานประจำส่วนงาน โดยจัดให้มีมาตรฐานประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับ P6 และ P7 เพื่อส่งเสริมให้มีผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยฯ มีภาระงานหลักในการดูแลเรื่องความปลอดภัย และถือเป็นการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงาน สิ่งแวดล้อมให้มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย ปลอดจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน สอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย