ชุดสาระความรู้จากงาน Chula Safety 2021 เสวนาเรื่อง “เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตวิถีใหม่รั้วจุฬาฯ” วันที่ 18 สิงหาคม 2564
448 views    
  ดร.องอาจ ธเนศนิตย์  [30 พ.ย. 64]    

จากงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตวิถีใหม่รั้วจุฬาฯ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานสัปดาห์ความปลอดภัย ครั้งที่ 4 “Chula Safety 2021 ชีวิตวิถีใหม่สู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ทพ.ดร.ณัฐวุฒิ คุตตะเทพ รองคณบดีฝ่ายบริหาร และประธานศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพงศ์วิกรานต์ วิศรุตโชติกุล  ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความปลอดภัย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในเรื่องการปรับตัวและการปรับเปลี่ยนขององค์กร ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยทั้งนี้ มี อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพรวมนโยบายและการจัดการของจุฬาฯ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยทางมหาวิทยาลัยมีการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการรองรับ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยง เช่น การจัดซื้อ application ที่มีความเหมาะสมสำหรับกิจกรรมในรูปแบบ online มาตรการการเยียวยาต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อนิสิต มีการตั้งศูนย์ vaccine ของจุฬาฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ ชุมชนรอบข้าง และประชาชนโดยทั่วไป ในด้านงานวิจัยได้รับผลกระทบไม่น้อย มีการขอขยายโครงการวิจัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการขอทุนสำหรับงานวิจัยใหม่ได้มีการสร้างเครือข่ายงานวิจัย มีนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่มากมายและรวดเร็วในจุฬาฯ เช่น เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพาของคณะวิทยาศาสตร์ การพัฒนา vaccine สำหรับโรคโควิด-19 มีการทำงานภายใต้โครงการจุฬาอารี (Chula Ari) เพื่อช่วยเหลือชุมชน รวมทั้งสร้างเสริมสังคมไทย โดยมีการประสานงานร่วมกับผู้นำชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนของจุฬาฯ ทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้มีการบริจาคอาหารสำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านโครงการกล่องรอดตาย ดังนั้น ทั้งในจุฬาฯ และภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเกื้อหนุนและร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งต่อทั้งงานวิจัยและการเรียนการสอน สำหรับการเรียนการสอนแบบบรรยายได้ปรับเปลี่ยนให้ดำเนินการในรูปแบบ online ทั้งหมด สำหรับการเรียนวิชาปฏิบัติการ (lab) นิสิตยังมีความจำเป็นต้องเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย แต่มีมาตรการควบคุมเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ในช่วงแรกกำหนดให้ลดจำนวนนิสิตต่อ ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการ มีการสาธิตการทำปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งบางภาควิชามีการจัดส่งอุปกรณ์ไปให้นิสิตที่บ้านเพื่อใช้ประกอบการเรียนวิชาปฏิบัติการ สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือ ที่มีขนาดใหญ่หรือมีราคาแพง รวมทั้งสัตว์และพืชสำหรับทดลอง ยังจำเป็นต้องมีผู้เข้ามาปฏิบัติงานเพื่อดูแลรักษา โดยมีการควบคุมจำนวนผู้ปฏิบัติงานให้มีปริมาณน้อยและมีความเหมาะสม มีการคัดกรองผู้ที่เข้าออกพื้นที่ของคณะ โดยจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีการรักษาความสะอาดของบุคคลและสถานที่ มีการจัดแยกกะในการทำงาน มีการผลิต gel alcohol เพื่อแจกจ่ายให้กับส่วนงานต่าง ๆ หลังจากที่มหาวิทยาลัยปิดทำการและสถานการณ์เริ่มมีการผ่อนคลาย จัดให้มีการเหลื่อมเวลาในการทำงานของบุคลากร มีการตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อ โควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) รวมทั้งการประดิษฐ์นวัตกรรม “เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด แบบพกพา” สำหรับใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่ก็ได้ทดลองใช้งานจริงแล้ว

อ.ทพ.ดร.ณัฐวุฒิ คุตตะเทพ รองคณบดีฝmายบริหาร และประธานศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม  คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกิจกรรม การเรียนการสอน งานวิจัย และการรักษา คนไข้ ของทางคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอย่างมาก โดยทางคณะได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนและแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยสรุปเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) การเรียน 2) การวิจัย และ 3) การทำงาน สำหรับการเรียน ในส่วนของการบรรยายได้ปรับเปลี่ยนให้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ การเรียนวิชาปฏิบัติการในส่วนของ Pre-clinic ปรับเปลี่ยนให้เป็นการสาธิตในรูปแบบออนไลน์และในส่วนของการเตรียมความพร้อมเป็นทันตแพทย์ปรับเปลี่ยนโดยชดเชยคาบเรียน ในส่วนของคลินิกมีการปรับเปลี่ยนโดยชดเชยคาบเรียนและพิจารณาใช้เกณฑ์ขั้นต่ำของทางทันตแพทยสภา การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมีการปรับเปลี่ยนให้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ สำหรับการวิจัย ในส่วนของนิสิตที่เรียนสูงกว่าระดับปริญญาตรี นักวิจัยและอาจารย์ให้ทำการจองก่อนการใช้งาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะมีการบริหารจัดการให้เข้าทำงานสัมพันธ์กับการจองเข้าใช้งาน สำหรับการทำงาน พบว่านิสิตเกิดความเครียด ในการเรียนแบบออนไลน์ จึงจัดให้มีการเสวนาภายใต้โครงการ voice from home เพื่อให้นิสิตเกิดความผ่อนคลาย สำหรับอาจารย์ปรับเปลี่ยนโดยให้ปรับแผนการสอน จัด/สลับ เวรในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วน สำหรับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนปรับเปลี่ยนโดยให้ทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งถ้าต้องเข้ามาปฏิบัติภารกิจในคณะให้เหลื่อมเวลาเข้าทำงาน จัด/สลับ เวรในกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วน ทางคณะมีการตรวจคัดกรองผู้เข้ามาปฏิบัติงานผ่านจุฬา passport ซึ่งถ้าผลการคัดกรองพบว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ทางคณะกรรมการโควิดของคณะจะให้คำแนะนำในการจัดการอย่าางถูกต้อง มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ มี gel alcohol ให้บริการ มีการจัดหา PPE (เช่น หน้ากาก N95/face shield/ถุงมือ) คนที่เข้ามาปฏิบัติงานต้องผ่านการฉีด vaccine ในส่วนของโรงพยาบาล มีการปรับปรุงระบบระบายอากาศ โดยจัดให้มีการเติมอากาศภายในอาคารเพิ่มมากขึ้น มีการติดตั้ง HEPA เพื่อช่วยกรอง airborne hazard จัดให้มีการตรวจตราจุดที่มีอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย มีการอบรมอัคคีภัยเบื้องต้นผ่านระบบ online ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด covid-19 ทางคณะประสบเหตุเกิดอุบัติเหตุ เพลิงไหม้ สาเหตุเกิดขึ้นจากการใช้งานปลั๊กพ่วงที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งครุภัณฑ์ขาดการซ่อมบำรุง มีข้อแนะนำสำหรับการไม่ใช้งานน้ำประปาเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุทำให้น้ำมีแรงดันสูง มีการสะสมของเชื้อโรค รวมทั้งเศษวัสดุที่เกิดจากการชำรุดของท่อน้ำ ถ้าท่อน้ำเกิดการแตก สามารถสร้างความเสียหายต่อครุภัณฑ์ได้ การปิดระบบ ระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศเป็นเหตุให้เกิดเชื้อราตามพื้นผิววัสดุดังนั้นควรเปิดระบบระบายอากาศและ เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งทำความสะอาดเป็นระยะ

คุณพงศ์วิกรานต์ วิศรุตโชติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความปลอดภัย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง มาตราการเชิงป้องโดยแบ่งการปฏิบัติงานของลูกจ้างออกเป็น 3 กะ โดยในแต่ละกะทำงานแยกออกจากกัน ก่อนการทำงานในช่วงเช้าการทำ morning brief เพื่อเตรียมพร้อมในการทำงาน มีการฉีด vaccine ให้กับลูกจ้าง  รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันโรคโควิด (BCP) มีการคัดกรองโดยตรวจวัดอุณหภูมิและใช้ application “ไทยชนะ” เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะมีการดำเนินการทำ contact tracing ทั้งในส่วนของครอบครัวและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางห้าง มีการควบคุมทางเข้าออกของห้างโดยลดจำนวนประตูที่เปิดใช้งาน

 เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตวิถีใหม่รั้วจุฬาฯ (103 KB)