ชุดสาระความรู้จากงาน Chula Safety 2021 สัมมนาเรื่อง “Fake News ด้านความปลอดภัย” วันที่ 20 สิงหาคม 2564
955 views    
  กร โพธิศิริภักดิ์  [21 ม.ค. 65]    

- ไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกที่เผยแพร่ “ข่าวเด็ด” –

- แค่เป็นหนึ่งคนที่ไม่เผยแพร่ “ข่าวเท็จ” –

(ศาสตราจารย์ ดร.พนม  คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์)


- ข้อมูลสร้างง่าย ข้อมูลปลอมง่าย  ข้อมูลบิดเบือนง่าย  ข้อมูลทำลายล้างง่าย –

- ข้อมูลถูกทำลายยาก -

(พีรพล  อนุตรโสตถิ์  รายการชัวร์ก่อนแชร์)


          ข้อคิดเห็นจากวิทยากรสัมมนาออนไลน์  “Fake News ด้านความปลอดภัย”  ศาสตราจารย์ ดร.พนม  คลี่ฉายา หัวหน้าภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพีรพล  อนุตรโสตถิ์ พิธีกรรายการชัวร์ก่อนแชร์ เน้นย้ำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือสื่อดิจิทัล หยุดคิดเพื่อตั้งคำถาม พิจารณา ตรวจสอบ ข้อมูลข่าวสาร ก่อนการโพสต์ แชร์หรือส่งต่อให้กับผู้อื่น เพื่อล้อมกรอบการแพร่กระจายของข่าวปลอม ช่วยลดจำนวนผู้ที่จะหลงเชื่อข่าวปลอม และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างได้

          หลักการทางนิเทศศาสตร์และวิชาชีพสื่อสารมวลชน  “ข่าว” ถูกให้คุณค่าว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านกระบวนการพิจารณาไตร่ตรอง เลือกสรร โดยนักวิชาชีพ นักสื่อสารมวลชน มีเจตนานำเสนอข้อเท็จจริงที่สังคมสาธารณะควรรับรู้และเป็นประโยชน์  แต่เมื่อบริบทเทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ สาธารณชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของสื่อและสร้างเนื้อหาได้ด้วยตนเองอย่างอิสระเสรี (User Generate Contents) ข้อมูลสารสนเทศจำนวนมหาศาลจึงถูกสร้างและไหลเวียนบนสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลมีความไร้ระเบียบ คลาดเคลื่อน บิดเบือน หรือเรียกว่า Information Disorder ทำให้ “ข่าว” ที่เคยเชื่อถือว่าเป็นข้อเท็จจริง น่าเชื่อถือ ถูกบั่นทอนด้วยคำว่า “ข่าวปลอม – Fake News” ที่นิยมใช้เรียกข้อมูล ข่าวสาร หรือเนื้อหาที่คลาดเคลื่อน บิดเบือน ขัดกับข้อเท็จจริง ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์


Fake News : คลาดเคลื่อน บิดเบือน หลอกลวง

          “ข่าวปลอม หรือ Fake News” ที่ใช้เรียกชุดข้อมูลที่ขัดกับข้อเท็จจริง ซึ่งมีความหมายที่กว้างกว่าการเป็นข่าว (News) แต่หมายถึงข้อมูลที่ไร้ระเบียบไม่ลงรอย หรือ Information Disorder บนสื่อสังคมอออนไลน์หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ แบ่งได้ 3 ระดับ

          1) ข้อมูลคลาดเคลื่อน เป็นชุดข้อมูลบนพื้นฐานความจริง ข้อเท็จจริง โดยมีข้อมูลบางส่วนที่ถูกตีความ ให้ความหมาย คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงเดิม อาจเป็นผลมาจากจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในกระบวนการสื่อสาร
          2) ข้อมูลบิดเบือน  เป็นการประกอบสร้างชุดข้อมูลข่าวสารบนความจริงและข้อเท็จจริง แต่มีเจตนาเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง บิดบัง ตัดทอน ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อให้ได้เนื้อหาที่เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือก่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่ของผู้สื่อสาร
          3) ข้อมูลเท็จ/หลอกลวง เป็นชุดข้อมูลที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหรือความจริงมากที่สุด ประกอบสร้างชุดข้อมูล โดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงหรือมีข้อเท็จจริงอยู่เพียงเล็กน้อย แต่มีเจตนาให้เข้าใจผิดว่าเป็นข้อมูลจริงหรือเป็นข้อเท็จจริง

          ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงจำนวนหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์  ถือเป็นเหตุที่สามารถก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน อาจทำให้เกิดผลกระทบได้ในระดับเล็กน้อยจนไปจนถึงผลกระทบที่รุนแรงในระดับสังคมและคนหมู่มากได้


Fake News : แฝงตัวมาได้หลากหลายรูปแบบ

          ข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข้อมูลที่ขัดกับข้อเท็จจริง ถูกเผยแพร่ออกมาในหลากหลายรูปแบบโดยมีเจตนาทำให้เกิดความเข้าใจผิด พบเห็นได้หลายรูปแบบที่สังเกตได้ต่อไปนี้

          1) ข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จที่เลียนแบบการนำเสนอข่าว

                    ข้อมูลหรือข่าวปลอมที่สร้างขึ้นเลียนแบบวิธีการนำเสนอข่าว ทั้งรูปแบบการนำเสนอและการใช้ภาษา โดยเจตนาให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าเป็นข่าวจากสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือและนำไปเผยแพร่ต่อให้กับผู้อื่น


(ที่มา : รายการชัวร์ก่อนแชร์เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=FQtGon60GOU


          วิธีการสังเกต  ข่าวปลอมที่นำเสนอเลียนแบบการนำเสนอข่าว มีจุดสังเกต คือ

          - ชื่อ URL หรือ web address มีความใกล้เคียงกับสำนักข่าวจริง แต่ไม่ใช่ของจริง เช่น https://www.mcot.net (เว็บจริง) และ https://www.mcot.co (เว็บปลอม) เป็นต้น

          - การใช้คำพาดหัวข่าวรุนแรง ตัดสิน เอนเอียง มีอคติ ไม่มีหลักการนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลางหรือเป็นธรรมและมักมีคำสะกดผิด เช่น “ตัดขาด ไม่ขอปองดอง ผู้นำโกง” เป็นต้น

          2) ข่าวปลอมในรูปแบบสื่อกราฟิก อินโฟกราฟิก ที่เลียนแบบสื่อให้ความรู้หรือโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

                    การนำเสนอข้อมูลเท็จ หรือข่าวปลอมนี้มักจะนำเสนอในรูปแบบของภาพหรืออินโฟกราฟิกที่เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ เข้าใจได้ง่าย ดูสมจริงแต่ข้อมูลที่นำเสนอในภาพขาดที่มาของข้อมูลที่ชัดเจน หรือเป็นข้อมูลเท็จ การใช้ตัวเลข ข้อมูลสถิติที่ไม่เป็นความจริง


(ที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เข้าถึงจาก https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_146508)


(ที่มา : ไทยพีบีเอส เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=qrnSp4_rChk)


          วิธีการสังเกต  ข่าวปลอมที่นำเสนอในรูปสื่อกราฟิกมักมีจุดสังเกต คือ

                   - ที่มาของข้อมูลไม่ชัดเจน หรือไม่ระบุ

                   - มักระบุอ้างถึงที่มาของข้อมูลจาก สถาบัน องค์กร บุคคล ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีอยู่จริง (เบื้องต้นสามารถตรวจสอบโดยการค้นหาชื่ออ้างอิงผ่านเว็บไซต์)

          3) ข่าวปลอมจากการตัดทอน บิดเบือน คลาดเคลื่อนของข้อมูล และการใส่ความเห็นในโพสต์ส่วนบุคคล

                    โดยปกติแล้วการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ้ก ทวิตเตอร์ หรือสื่ออื่น ๆ มีจุดประสงค์การใช้งานพื้นฐานคือการแสดงตัวตน (Self-Expression) ข้อมูลที่ถูกนำเสนอเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์จึงมีลักษณะเป็นชุดข้อมูลเกี่ยวกับ ความคิดเห็น ความเชื่อ การแสดงจุดยืนหรืออุดมการณ์ของบุคคลที่ผสานไปกับการนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ เมื่อปัจจุบันสื่อเหล่านี้ถูกใช้เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวหรือข้อเท็จจริงมากขึ้น  ผู้บริโภคข้อมูลหรือข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงจำเป็นต้องพิจารณาแยกแยะข้อมูล ระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของผู้เขียนออกจากกัน  ซึ่งการนำเสนอผ่านพื้นที่สื่อส่วนบุคคลนี้มักก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน บิดเบือนของข้อมูลได้บ่อยครั้ง โดยมีลักษณะที่เกิดขึ้นดังนี้

                   3.1 ใช้ภาพและเนื้อหาจากคนละเหตุการณ์หรือคนละสถานการณ์มานำเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเจตนาให้เข้าใจผิด


(ที่มา : ข่าวสด เข้าถึงจาก https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_3356158)


                 3.2 การแชร์โพสต์โดยเพิ่มความเห็นส่วนตัวทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือทำให้มีจุดมุ่งหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม

(ที่มา : Twitter เข้าถึงจาก https://twitter.com/home)


          4) การใช้ภาพจริงประกอบกับคำบรรยายที่อาจชี้นำ หรือจูงใจ ให้เข้าตีความหรือรับรู้ความหมายที่คลาดเคลื่อน บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง


(ที่มา : เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ งาน Chula Safety 2021 การสัมมนา “Fake News ด้านความปลอดภัย” 20 สิงหาคม 2564)


          5) การตัดต่อคลิปหรือภาพเคลื่อนไหวจากภาพคนละเหตุการณ์ เข้าด้วยกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิด


(ที่มา : รายการชัวร์ก่อนแชร์ เข้าถึงจาก https://tna.mcot.net/latest-news-665773)


          Fake News ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงซึ่งไหลเวียนอยู่บนแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลจะมีลักษณะร่วมกันที่สังเกตได้ คือ Fake Expert ผู้เชี่ยวชาญจอมปลอม” การกล่าวอ้างผู้เชี่ยวชาญบุคคล หรือองค์กรที่ไม่ได้มีอยู่จริง  Logical Fallacies ตรรกะวิบัติ ”มักเชื่อมโยงประเด็นหรือใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล  Impossible Expectation สร้างความคาดหวังที่มิอาจเกิดขึ้นได้จริง”มีเนื้อหาหรือคำจูงใจเกินจริง หรือเป็นไปได้ยาก เช่น รวยจนไม่มีที่เก็บเงิน โรคร้ายหายในพริบตา  เป็นต้น Cherry Picking เลือกเฉพาะสิ่งที่ชอบ”เลือกเผยแพร่หรือพูดถึงเพียงสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่สร้างความสนใจไม่รอบด้านด้าน มุ่งชี้นำไปในทิศทางที่ต้องการและมีหลักการ Conspiracy Theory ทฤษฎีสมคบคิด”มีเนื้อหาเชิงสมคบคิดของคนหรือกลุ่มคนที่นำเหตุการณ์หรือเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อมีวัตถุประสงค์หนึ่งโดยมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนหรืออาจจะมีเหตุผลทางความเชื่อสนับสนุนเพื่อชี้นำในบริบทของสังคม วัฒนธรรม ศาสนาและอุดมการณ์การเมือง


ตัวอย่าง ทฤษฎีสมคบคิดที่เสนอว่า โควิด-19 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ

(ที่มา : The Bangkok Insight เข้าถึงจาก https://www.thebangkokinsight.com/news/world-news/353178/)


พฤติกรรมเสี่ยงที่มักทำให้ตกเป็นเหยื่อ Fake News

          พฤติกรรมหรือการกระทำที่มักทำให้คนโดยทั่วไปตกเป็นเหยื่อของFakeNews แชร์และส่งต่อข่าวปลอมนั้นโดยไม่ทันตั้งตัว

          1) อ่านเฉพาะหัวข้อ หรือพาดหัวข่าว หรือส่วนนำโดยไม่อ่านเนื้อหาทั้งหมด
          2) เลือกอ่านเฉพาะข่าว ข้อมูล หรือเนื้อหาที่ตรงความสนใจหรือสนับสนุนความเชื่อเดิมของตนไม่เปิดรับข้อมูลที่รอบด้าน
          3) ยังคงปักใจเชื่อและปกป้องข้อมูล เพื่อยืนยันตามความเชื่อเดิม แม้จะมีการโต้แย้งว่าเป็นข่าวปลอม
          4) หลงเชื่อหรือแชร์ข่าวปลอมเพราะความเชื่อมั่นต่อตัวบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
          5) กลัวเป็นคนตกข่าวไม่ทันสมัย ทำให้โอกาสที่จะแชร์ข่าวปลอมในขณะที่เรื่องนั้น ๆ กำลังเป็นประเด็นอยู่ในสังคมมีมากยิ่งขึ้น
          6) ความเหนื่อยล้าจากข้อมูลในสื่อที่มีมากเกินไป และข้อจำกัดตามความสามารถในการพิจารณาแยกแยะ ประสบการณ์ ความเชื่อของแต่ละบุคคล


Fact or Fake? เช็คให้มั่นใจ ไม่ส่งต่อข่าวลวง

          สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการหลงเชื่อข่าวปลอม ชะลอการกระจายข่าวในวงกว้าง สามารถทำได้เบื้องต้นด้วยง่าย ๆ ในการอ่านข่าวหรือข้อมูลข่าวสาร คือ “อ่านครบ อ่านจบ และรู้เท่าทัน” เมื่ออ่านข้อมูลจบแล้วเกิดความสงสัยให้ตั้งคำถามเสมอ “จริงมั้ย เก่ามั้ย เกี่ยวมั้ย ครบมั้ย อคติมั้ย” เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะทำให้เรารู้เท่าทันข่าวปลอม  เมื่อตั้งคำถามแล้วไม่แน่ใจ  “เก็บไว้ อย่าเพิ่งแชร์หรือส่งต่อ”
          ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือออนไลน์เพื่อเป็นตัวช่วยคัดกรองข่าวปลอม เพื่อช่วยป้องกันความเข้าใจผิดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข่าวปลอม ให้เลือกใช้ได้ง่ายให้เลือกใช้งานผ่านทางออนไลน์ได้อย่างสะดวก


การตรวจสอบข้อความหรือข่าวที่มีโอกาสเป็นข่าวปลอม สามารถทำได้ผ่านช่องทางเหล่านี้

          1) เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม https://www.thaidimachine.org/knownFakeNews/
                    เมื่อไม่มั่นใจว่าข้อความหรือข่าวที่กำลังอ่านอยู่มีโอกาสเป็นข่าวปลอมมากแค่ไหน ตรวจสอบได้ง่าย ๆ เพียงคัดลองข้อความนั้นแล้วนำไปค้นหาในเว็บไซต์ โดยแสดงผลออกมาในรูปแถบสีแสดงความเป็นข่าวปลอมหรือโอกาสเป็นข่าวจริง



          2) เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม https://cofact.org/articles
                    เป็นเว็บไซต์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้ามาแสดงความเห็น ว่ามีความเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวปลอมมากน้อยเพียงใด โดยค้นหาจากข้อความที่ต้องการ ระบบจะแสดงข้อความที่เกี่ยวข้องและมีผู้ให้ความเห็นว่าแต่ละข้อความนั้นเป็นความจริงหรือมีโอกาสเป้นข่าวปลอมมากน้อยเพียงใด
การตรวจสอบภาพหรือวิดีโอ ว่ามีโอกาสเป็นข่าวปลอมหรือไม่ สามารถทำได้ผ่านช่องทางเหล่านี้
ข่าวปลอมหรือภาพเคลื่อนไหวที่นำเสนอข่าวปลอม มักมีภาพหรือคลิปดั้งเดิมที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของข่าว มีลักษณะการเอาภาพเก่ามาใช้บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือการตัดต่อภาพเคลื่อนไหวให้เกิดเนื้อเรื่องหรือแรงจูงใจใหม่ด้วยคลิปวิดีโอจากหลายแหล่งมารวมกัน  เบื้องต้นในการตรวจสอบความจริงจึงทำได้จากการตรวจหาแหล่งที่มาของภาพหรือวิดีโอนั้น ๆ ซึ่งในกรณีการตรวจสอบความจริงของภาพจากวิดีโอสามารถค้นหาจากภาพบันทึกหน้าจอของวิดีโอนั้น ๆ แล้วนำภาพมาค้นหาผ่านช่องทางต่อไปนี้



          3) การค้นหาด้วยภาพผ่าน Google https://www.google.co.th/imghp?hl=th



          4) การค้นหาด้วยภาพผ่าน Yandex https://yandex.com/images/



          อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องมีที่เป็นตัวช่วยในการคัดกรองข่าวปลอมให้ใช้งานมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ การรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่ในการแสดงออกส่วนบุคคล บางเนื้อหามีความตั้งใจจัดทำขึ้นแบบเกินจริง (Exaggerated) เพียงเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความบันเทิง บางเนื้อหาเป็นเพียงข้อคิดเห็น ดังนั้น ผู้บริโภคเนื้อหาหรือข้อมูลควรมีวิจารณญาณ มีความสามารถรู้เท่าทันแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็น เข้าใจเจตนาและวัตถุประสงค์ของการแต่ละการสื่อสาร โดยสิ่งสำคัญในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คือ ความเห็น ความเชื่อ ของบุคคลมิใช่ความจริง จึงไม่ควรตีขลุม “เอาความคิดเห็น ความเชื่อของผู้อื่น มากล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อเท็จจริงของตนเอง

หมายเหตุ บทความนี้สนับสนุน SDG 16 Peace, Justice and Strong Institutions สงบสุข ยุติธรรม และเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง

หากสนใจติดตามชมวิดีโอสัมมนา “Fake News ความปลอดภัย” ฉบับเต็ม สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=664