ชุดสาระความรู้จากงาน Chula Safety 2021 เสวนา เรื่อง “นิสิตกับชีวิตวิถีใหม่ในรั้วจามจุรี”
516 views    
  นางสาวนิภาพร กุลสุข  [17 ก.พ. 65]    

           จากงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “นิสิตกับชีวิตวิถีใหม่ในรั้วจามจุรี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงาน Chula Safety 2021 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ดำเนินการโดย Chula Safety Ambassador 2020 ได้แก่

           1)  นายศุภณัฐ เดชะเทศ (อ๋อง) คณะวิศวกรรมศาสตร์
           2)  นางสาวเรืองภรณ์ ปิ่นแสง (เกศ) คณะสัตวแพทยศาสตร์
           3)  นายสิรวิชญ์ แซ่อึ่ง (เบนซ์) คณะวิทยาศาสตร์
           4)  นางสาวชัญญา ศิรินภาพันธ์ (หมิงหมิง) คณะวิทยาศาสตร์
           5)  นางสาวชรรินธรณ์ มโนนิจนันธวัช (โบว์แดง) คณะแพทยศาสตร์ 

เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมีนางสาวศรีสุดา ศรีสุราช (ปุ้มปุ้ย) คณะสัตวแพทยศาสตร์ และนางสาวณัฐมนต์ เกษมสุข (เอิญ) คณะครุศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ


ภาพบรรยากาศการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “นิสิตกับชีวิตวิถีใหม่ในรั้วจามจุรี”

โดย Chula Safety Ambassador 2020


           การสัมมนา “นิสิตกับชีวิตวิถีใหม่ในรั้วจามจุรี” ครั้งนี้เป็นกิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์การเรียน รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันในมุมมองของนิสิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่มีผลกระทบต่อการเรียน จนอาจก่อให้เกิดปัญหาความเครียด กลุ่มนิสิต Chula Safety Ambassador 2020 จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ การประสบปัญหาในการเรียนและแนวทางแก้ไข รวมถึงการจัดการกับสภาวะอารมณ์ให้ห่างไกลความเครียดในมุมมองที่น่าสนใจดังนี้

           นางสาวณัฐมนต์ เกษมสุข (เอิญ) ได้แบ่งปันประสบการณ์ในสถานะผู้เรียนและผู้สอน (นิสิตฝึกสอน) ออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด – 19 โดยกล่าวถึงโรงเรียนที่ตนได้ฝึกสอนเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ การจัดกิจกรรมและการเรียนรู้ต่าง ๆ จึงไม่มีข้อจำกัด แต่สิ่งที่ตนคิดว่ามีข้อจำกัดสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ คือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เนื่องจากระหว่างเรียนนักเรียนปิดกล้อง ทำให้ผู้สอนไม่ทราบว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนที่สอนได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับการถาม - ตอบในขณะเรียนก็จะเป็นนักเรียนกลุ่มเดิม ๆ ทำให้ไม่ทราบว่าผู้เรียนคนอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง อีกอย่างเมื่อผู้สอนไม่ได้เห็นพฤติกรรมของผู้เรียน ทำให้การประเมินเป็นเรื่องยากขึ้นมาก ส่วนตัวจะให้ความเคารพในความเป็นส่วนตัวของนักเรียนไม่ได้บังคับให้นักเรียนเปิดกล้องตลอดเวลาเพราะรู้ว่านักเรียนต้องเรียนมาทั้งวัน จะให้นั่งจองหน้าจออยู่ตลอดเป็นไปไม่ได้ และรู้สึกเห็นใจนักเรียนที่ต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะปกตินักเรียนจะได้ไปโรงเรียนเจอเพื่อน ๆ ได้พูด คุย วิ่งเล่นกัน แต่สถานการณ์แบบนี้ทำให้พวกเขาต้องอยู่บ้านนั่งเรียนออนไลน์ บางครอบครัวก็ไม่เอื้อต่อการเรียนออนไลน์ เช่น บ้านไหนมีลูกหลายคนแล้วต้องเรียนพร้อมกัน เสียงอาจจะรบกวนกัน อาจทำให้เกิดความเครียดได้

           ในสถานะผู้สอน ได้พยายามทำความเข้าใจนักเรียนว่าเงื่อนไขของนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน การประเมินจะต้องเลือกวิธีที่มีข้อจำกัดกับนักเรียนน้อยที่สุด นอกจากการสอนแล้วยังค่อยใส่ใจนักเรียน ค่อยถามถึงข้อจำกัดหรือปัญหาที่นักเรียนต้องเจอเพื่อให้เด็กได้ระบายหรือจะทำวิธีใดก็ได้เพื่อให้ทราบว่านักเรียนติดปัญหาอะไร แล้วทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่โดดเดียว ยังมีครูค่อยให้กำลังใจอยู่

           ในสถานะนิสิต ช่วงต้นของการเรียนออนไลน์เป็นช่วงที่ต้องปรับตัวทั้งนิสิตและอาจารย์ ต่างคนต่างช่วยกันเพื่อให้การเรียนออนไลน์สำเร็จไปได้ แต่เนื่องจากกิจกรรมที่เคยทำกับเพื่อนมันหายไปทำให้รู้สึกเหงาและรู้สึกว่าเสียดายช่วงสนุกในชีวิตมหาลัย นอกจากนี้การเสพข่าวออนไลน์มากเกินไป บางครั้งอาจทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเครียด ส่วนตัวใช้วิธีพยายามลดความคาดหวังลง เข้าใจสิ่งที่เกิดให้มากขึ้น ตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้ทัน ว่ากำลังรู้สึกแบบไหน แล้วอาจจะเล่าให้เพื่อน ครอบครัว หรือแฟนฟัง ซึ่งเขาอาจจะช่วยเราได้ หรืออาจจะใช้วิธีเขียนปัญหาลงในกระดาษ แล้วค่อย ๆ ดูทีละข้อว่าจะแก้ยังไง พอมันเห็นภาพชัดขึ้นใจก็จะเริ่มเบา

           นางสาวเรืองภรณ์ ปิ่นแสง (เกศ) ได้แบ่งปันประสบการณ์ในสถานะนิสิตที่มีเรียนภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ แต่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ โดยได้กล่าวว่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ที่ตนเรียนจะต้องเรียนทั้งหมด 6 ปีการศึกษา ซึ่งจะแบ่งเป็นช่วงปีการศึกษาที่ 1-3 จะเรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ และช่วงปีการศึกษาที่ 4-6 จะทำปฏิบัติการที่คลินิก ซึ่งจะเรียกว่า “ขึ้นคลินิก” ตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเรียนต้องปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งพบข้อเสียของการเรียนออนไลน์ คือ วิชาปฏิบัติการและวิชาที่ต้องขึ้นคลินิกไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง เช่น การเรียนผ่าตัด ปกติถ้าเรียนในห้องปฏิบัติการจะมีการใช้สุนัขหรือแมวที่เสียชีวิตแล้วและได้รับบริจาคจากเจ้าของ เราจะเรียกว่า “ร่างนิ่ม” ในการทำปฏิบัติการ แต่ตอนเรียนออนไลน์อาจารย์ได้ส่งอุปกรณ์และแป้นเย็บแผลของเทียมทำมาจากซิลิโคนมาให้ลองเย็บ ซึ่งความแข็งผิวสัมผัสไม่เหมือนของจริงที่ควรเป็น อีกทั้งขั้นตอนการผ่าตัด การเย็บ เดิมทีอาจารย์จะทำให้ดู แต่พอเรียนออนไลน์ต้องดูคลิปวิดีโอ ซึ่งเทคนิค วิธีการ และประสบการณ์ที่เราจะได้รับการเรียนออนไลน์ทดแทนไม่ได้

           ส่วนข้อดีของการเรียนออนไลน์ คือ การเรียนภาคทฤษฎีเป็นการบรรยายต้องนั่งฟังและอัดเสียงอาจารย์เพื่อทบทวนย้อนหลังซึ่งไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างที่ได้มีเวลามากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย สำคัญคือ การดูแลสุขภาพเพราะนั่งเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดอาการปวด คอ บ่า ไหล ตอนหลังเริ่มปรับตัว อาจารย์ให้พักก็พักและแบ่งเวลาไปออกกำลังกายบ้าง ปรับสมดุล work life balance

           นายศุภณัฐ เดชะเทศ (อ๋อง) ได้แบ่งปันประสบการณ์ในสถานะนิสิตจบใหม่ในปีการศึกษา 2563 โดยกล่าวว่า ตนมีแผนหลังจากจบจะไป work and travel และมีแผนอื่น ๆ อีกมากมาย แต่พอมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  แผนที่วางไว้ได้ถูกเปลี่ยนไปหมด ส่วนตัวทำใจยอมรับและมานั่งทบทวนว่าแผนไหนสามารถทำได้ก่อนบ้าง เช่น แผนเรียนต่อที่ต้องทำอีก 3-4 ปีข้างหน้าแต่พอช่วงสถานการณ์แบบนี้ก็ยกมาทำก่อน พร้อม ๆ กับการได้งานทำด้วย เป็นทั้งบัณฑิตใหม่ พนักงานใหม่ และสถานการณ์ใหม่ ซึ่งการปรับตัวค่อยข้างยาก เช่น เรื่องการประชุมออนไลน์ตอนนำเสนอผลงาน เราได้ยินเฉพาะเสียง ไม่เห็นหน้า ไม่สามารถทราบถึงการโต้ตอบทางสีหน้าและแววตาของผู้เข้าร่วมประชุมได้ แต่โชคดีที่เพื่อนร่วมงาน พี่ ๆ ในทีม หัวหน้างานมีทัศนคติที่ดี จึงมีความเชื่อใจในการทำงานกัน ส่วนตัวต้องปรับตัวและต้องทำความเข้าใจมาก ๆ เหมือนกัน แต่มีข้อดีเรื่องการเดินทาง ทำให้ประหยัดเวลา มีเวลาพักผ่อนและจัดการเรื่องส่วนตัวได้เยอะมากขึ้น แต่มีข้อเสียตอนที่ต้องนั่งทำงานนานขึ้น ทำให้มีอาการปวดคอ บ่า ไหล เช่นกัน จึงลองหาข้อมูลพบว่า เราควรมีเวลาพักให้กับตัวเอง จัดเวลาชีวิตตัวเองบ้าง เช่น ถ้าเราจะทำงาน 9 โมง ให้ลองตื่นก่อนเวลาแล้วมาปรับโหมดของตัวเองเพื่อให้ร่างกายรู้ว่าเราจะเข้าสู่โหมดทำงาน และที่สำคัญคืออย่าลืมตั้งเวลาพักให้กับตัวเองด้วย สรุป คือ จัดการเวลาให้มีเวลาพักและเผื่อเวลาให้กับตัวเองได้มีเวลาปรับโหมดเข้าสู่การทำงาน และควรเคลื่อนไหวร่างกายทุก 1 ชั่วโมง ไม่อยู่กับอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน

           และจากที่ได้ฟัง Podcast ของ The Standard เกี่ยวกับกฎ Pomodoro การบริหารเวลาตามรูปแบบมะเขือเทศ เป็นการแบ่งสัดส่วน 25 : 5 โดย 25 นาที คือ การมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องทำ ส่วน 5 นาทีต่อมา เป็นเวลาพัก สามารถไปดูเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ได้ แล้วเมื่อครบ 5 นาที  จึงกลับมาโฟกัสงานต่ออีก 25 นาที  เมื่อทำครบ 4 รอบ เราสามารถให้รางวัลตัวเองโดยการพักยาว 15 – 20 นาที

           นอกจากนี้น้อง ๆ Chula Safety Ambassador 2020 ได้กล่าวต้อนรับและฝากแนวคิดให้กับน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าศึกษาในรั้วจามจุรีอีกหลายแง่มุม

           นายสิรวิชญ์ แซ่อึ่ง (เบนซ์) กล่าวว่า ไม่อยากให้น้อง ๆ เครียดกับการเรียนออนไลน์ หากเรียนไม่เข้าใจก็ไม่อยากให้เอาใจดึงลงไปด้วย

           นางสาวชัญญา ศิรินภาพันธ์ (หมิงหมิง) กล่าวว่า ยินดีตอนรับน้อง ๆ ทุกคน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ขอให้ผ่านมันไปให้ได้ ถ้าวันนี้ท้อรู้สึกเหนื่อยก็แค่พักแล้วไปสิ่งที่ชอบทำแล้วค่อยมาเริ่มต้นใหม่กับการเรียน

           นางสาวเรืองภรณ์ ปิ่นแสง (เกศ) กล่าวว่า ยินดีต้อนรับน้อง ๆ ทุกคน ไม่อยากให้เสียใจ เพราะโอกาสที่เสียไป มันไม่มีใครเลือกได้ ทุก ๆ คน ก็ต้องเจอมัน ให้เราลองปรับตัวและอยู่กับมันให้ได้ ถ้าเราปรับได้แล้วเราจะผ่านมันไปได้ด้วยดี

           นายศุภณัฐ เดชะเทศ (อ๋อง) กล่าวว่า ฝากถึงทุกคนให้สู้ ๆ ให้คิดว่าเป็นบททดสอบในชีวิตเรา ถ้าเราผ่านบททดสอบนี้ไปได้เราก็จะได้บทเรียน มุมมองอะไรหลาย ๆ อย่าง “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงานเสมอ”

           นางสาวศรีสุดา ศรีสุราช (ปุ้มปุ้ย) กล่าวว่า ยินดีตอนรับน้อง ๆ ทุกคน ขอให้ทุกคนสู้และดูแลจิตใจตัวเอง “ถึงพวกเราจะเป็น Chula Safety Ambassador ของ SHECU แต่ทุกคนก็เป็น Ambassador ด้านความปลอดภัยให้ตัวเองได้ อะไรที่เห็นว่าดีต่อสุภาพจิตสุขภาพใจก็สามารถนำไปเผยแพร่” ดูแลตัวเอง

           นางสาวณัฐมนต์ เกษมสุข (เอิญ) กล่าวว่า ยินดีต้อนรับน้อง ๆ รุ่น 105 ทุกคนเข้าสู่รั้วจุฬาฯ ตอนนี้ก็ให้ตั้งใจเรียนไปก่อน ถ้ามหาวิทยาลัยเปิดสามารถกลับมาพบเจอเพื่อน ๆ ได้ก็อยากน้อง ๆ ทุกคนเก็บเกี่ยวช่วงเวลาการเรียนและใช้ชีวิตที่จุฬาฯ ไว้ให้ได้มากที่สุด


หมายเหตุ บทความนี้สนับสนุน SDG 3 Good Health and Wellbeing สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เอกสารอ้างอิง
The Standard online (2022). แบ่งเวลา ‘เล่นนอกบ้านวันละ 1 ชั่วโมง’ แนวคิดสร้างเด็กเก่งแบบชาวฟินแลนด์ที่เชื่อว่าตำราเรียนที่ดีคือการ ‘เรียนรู้นอกบ้าน’ [Advertorial]. THE STANDARD TEAM. สามารถดูได้ที่ https://thestandard.co/breeze-ol/ [เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565].

สามารถรับชมคลิปงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=662