การสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัย: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ
2,666 views    
  น.ส.จุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ และดร.จุฑาสิริ โรหิตรัตนะ   [30 พ.ค. 65]    

สถิติความปลอดภัยที่สำคัญ

          International Commission on Occupational Health (ICOH) ได้รายงาน ประชากรวัยทำงานประมาณ 2.9 ล้านคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และยังมีอีกอย่างน้อย 402 ล้านคนที่ยังทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องมาจากการการทำงาน

          องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แสดงผลการวิเคราะห์โรคจากการทำงานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากการทำงาน ร้อยละ 81 และการบาดเจ็บจากการทำงานเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากการทำงาน ร้อยละ 19 โดยมีปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง ได้แก่ การทำงานที่ใช้เวลานานตั้งแต่ 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ขึ้นไป (มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต 745,000 กรณี) รองลงมา คือ การรับสัมผัสฝุ่นละออง ก๊าซ และไอระเหย (มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต 450,000 กรณี)

          การประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทางเศรษฐกิจในหลายมิติ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยแรงงาน กระบวนการผลิตเสียหาย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมถึงขวัญและกำลังใจในการทำงานน้อยลง ซึ่งประมาณการสูญเสีย ร้อยละ 5.4 ของ GDP ทั่วโลก

          ประเด็นที่น่าสนใจที่ได้มาจากการสอบถามคนวัยทำงานจาก 142 ประเทศ พบว่าคนเหล่านี้ไม่กล้ารายงานอุบัติการณ์ เพราะกลัวการถูกลงโทษ ทำให้ไม่สามารถป้องกันอันตรายและเกิดเหตุรุนแรงในที่สุด ในขณะที่สถานที่ทำงานที่มีการสนับสนุนการรายงานอุบัติการณ์ จะมีเหตุไม่พึงประสงค์ลดลง ร้อยละ 64 และการเข้ารับการรักษาพยาบาลน้อยลง ร้อยละ 58 ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถรายงานอุบัติการณ์ เพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ และลดผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว

 

แนวทางป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานจากนโยบายสู่การปฏิบัติ

          การจัดลำดับความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน พร้อมวางแผนงบประมาณที่เพียงพอจะส่งเสริมให้มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เพราะมีแรงงานที่มีสุขภาวะในการทำงานที่ดี จะทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้นด้วย จึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและสุขอนามัยเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ความว่า

วัฒนธรรมความปลอดภัยถือเป็นสิทธิในการทำงานในที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง (ไตรภาคี) หรือ นายจ้าง และลูกจ้าง (ทวิภาคี) ร่วมกันส่งเสริมให้มีความปลอดภัยในการทำงาน โดยยึดหลักการป้องกันเป็นสำคัญ”

ประเทศไทยได้ประกาศวาระปฏิรูป Safety Thailand ในโมเดล “Thailand 4.0” ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินงานเชิงนโยบายในระดับชาติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 โดยมีกลไกเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ครอบคลุมทุกภาคส่วน และทุกระดับ จนถึงระดับสถานที่ทำงาน เพื่อปรับปรุงนโยบายและกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือและเป้าหมายร่วมกัน และเอื้ออำนวยให้กระบวนการมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ในระดับสถานที่ทำงาน ควรปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ผนวกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ในกระบวนการทำงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย ได้แก่ สร้างค่านิยมความปลอดภัยในการทำงาน มีการสื่อสารความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง มีผู้บริหารที่มุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัย มีการอบรมให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานความปลอดภัยด้วยกัน

 

บทบาทและความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยฯ ของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

ผู้บริหาร

  • จัดให้มีสถานที่ทำงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ และกระบวนการทำงานที่ปลอดภัยปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • จัดให้มีการควบคุมอันตรายจากสารเคมี กายภาพ และชีวภาพ ให้อยู่ในระดับปลอดภัยต่อสุขภาพ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสม
  • จัดให้มี PPE เพียงพอต่อผู้ปฏิบัติงาน
  • จัดให้มีการเตรียมพร้อมในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน
  • จัดให้มีการอบรมและให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้อง

ผู้ปฏิบัติงาน

  • สามารถปฏิเสธงานที่มีอันตราย และมีการป้องกันไม่เหมาะสมได้ โดยไม่มีผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้
  • สามารถได้รับการอบรมและรับทราบข้อมูลด้านความปลอดภัย
  • สามารถขอรับทราบความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้
  • มีหน้าที่ให้ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยฯ การใช้ PPE อย่างถูกต้องและเหมาะสม การรายงานความเป็นอันตรายต่อผู้บังคับบัญชา

 

การสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย

          การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ จะมีประสิทธิภาพเมื่อมีวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน มีการมีส่วนร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย


รูปที่ 1 ผลของการสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยต่อจำนวนอุบัติเหตุ

ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ระหว่างปี พ.ศ. 2529 – 2554


จากกรณีศึกษาในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง พบว่า การดำเนินการด้านความปลอดภัยในรูปแบบต่าง ๆ มีผลทำให้มีจำนวนการประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงานในระหว่างปี 2529 – 2554 ลดลง การปรับปรุงเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยเป็นมาตรการที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยในสถานที่ทำงานในระดับหนึ่ง แต่การสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยทำให้สถานที่ทำงานมีจำนวนอุบัติเหตุลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงานจึงมีความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน

ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และดำเนินงานสอดคล้องตามกฎหมายด้านความปลอดภัยฯ และที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการความปลอดภัยฯ ภายในมหาวิทยาลัย โดยมีกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ที่อาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนของ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คปอ.จุฬาฯ) คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำส่วนงาน (คปอ.ส่วนงาน) 38 ส่วนงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2565) บุคลากรที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบงานด้านความปลอดภัยฯ ของส่วนงาน หรือที่เราเรียกกันว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานประจำส่วนงาน (จป.ประจำส่วนงาน) และบุคลากรที่ดูแลความปลอดภัยตามลักษณะงาน (เคมี/ชีวภาพ/รังสี)

การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของ ศปอส. ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของมหาวิทยาลัย โดยมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญที่จะทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่ปลอดอุบัติเหตุ (Zero Accident) นั้น ศปอส. ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งเคมี ชีวภาพ รังสี และอาชีวอนามัย ให้ส่วนงานปฏิบัติตามได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงการกำกับและติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของส่วนงาน ส่วนของเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ เป็นเครื่องมือรองรับทั้งในเชิงการป้องกันและการแก้ไขปรับปรุงให้มีความปลอดภัยแก่ส่วนงานและประชาคมจุฬาฯ อีกทั้งสามารถใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ 

 

เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

          ศปอส. ได้พัฒนาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นฐานข้อมูล และระบบการจัดการข้อมูลและบริหารความปลอดภัยฯ ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ได้แก่

ระบบฐานข้อมูลความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ (CU Lab) และคลังกลางเก็บสารเคมี (CU Chem-store)” เป็นระบบที่ให้สำรวจข้อมูลและอุปกรณ์ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และคลังกลางเก็บสารเคมี เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนและกำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ ส่วนงาน และมหาวิทยาลัย 

ระบบประเมินสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการด้านชีวภาพและรังสี (BSL และ RS Checklist)” เป็น ระบบที่มีการพัฒนาแบบประเมินสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางชีวภาพ และห้องปฏิบัติการรังสี ให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด และแสดงผลการประเมินสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการนั้น ๆ บนระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งสามารถนำผลที่ได้มาใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนควบคุมความเสี่ยงและจัดทำแผนยกระดับห้องปฏิบัติการให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ระบบการบริหารจัดการสารเคมีและของเสียสารเคมี หรือ โปรแกรมการจัดการข้อมูลสารเคมีและของเสียสารเคมี (ChemTrack&WasteTrack2016)” เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการจัดการข้อมูลสารเคมีและของเสียสารเคมีของคลังสารเคมีห้องปฏิบัติการและคลังกลางเก็บสารเคมี ให้เป็นระบบ ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ใช้งานจะได้ทราบถึงข้อมูล ชนิด ปริมาณสารเคมีนำเข้า ปริมาณคงเหลือ สถานที่เก็บ ค่าใช้จ่าย ตลอดจนข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี ในส่วนของของเสียสารเคมีจะได้ทราบถึงข้อมูลประเภท ปริมาณ และค่าใช้จ่ายในการส่งกำจัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการใช้สารเคมี กำจัดของเสียสารเคมี จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับตอบโต้เหตุฉุกเฉินที่เหมาะสม และกำหนดข้อปฏิบัติหรือมาตรการควบคุมความเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บสารเคมีและของเสียสารเคมี

ระบบการให้บริการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน เป็นระบบการให้บริการตรวจวัดและยืมเครื่องมือตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สถานที่ทำงานที่มีความเสี่ยงได้มีข้อมูลและทราบสถานะความไม่ปลอดภัยที่มีอยู่ ตลอดจนเกิดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ได้แก่ ระบบรายงานอุบัติการณ์ เป็นระบบรายงานที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ได้มีช่องทางในการรายงานหรือแจ้งสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss) และอุบัติเหตุ (Accident) ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ของ SHECU และสามารถใช้ระบบนี้ในการติดตามการดำเนินการแก้ไข รวมถึงใช้เป็นบทเรียนในการวางแผนหรือกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน แก้ไข และรองรับเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดอุบัติการณ์ที่มีการรายงานเข้าสู่ระบบที่ได้รับในปีงบประมาณ 2565 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 25 มีนาคม 2565) รวมทั้งสิ้น 23 เหตุการณ์ ดังนี้ 

1. สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย จำนวน 6 เหตุการณ์ ได้รับการปรับปรุงแก้ไข/คำแนะนำแล้ว 1 เหตุการณ์ (ร้อยละ 16.7) และอยู่ในระหว่างดำเนินงาน 5 เหตุการณ์ (ร้อยละ 83.3) โดย เป็นกลุ่มเหตุการณ์เกี่ยวกับ พื้น/ทางเดินไม่ปลอดภัย อุปกรณ์ชำรุดหรือก่อให้เกิดอันตราย สัตว์ก่อให้เกิดอันตราย และระบบตอบโต้เหตุฉุกเฉินไม่พร้อมใช้งาน

2. เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ จำนวน 3 เหตุการณ์ มีแนวทางการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ/คำแนะนำแล้ว 2 เหตุการณ์ (ร้อยละ 66.7) และอยู่ในระหว่างดำเนินงาน 1 เหตุการณ์ (ร้อยละ 33.3) โดยเป็นกลุ่มเหตุการณ์เกี่ยวกับ อัคคีภัย และหกรั่วไหล (แก๊ส)

3. อุบัติเหตุ จำนวน 14 เหตุการณ์ (ระดับความรุนแรงปานกลาง จำนวน 3 เหตุการณ์ และระดับความรุนแรงน้อย 11 เหตุการณ์) ได้รับการสืบสวนเหตุแล้ว 7 เหตุการณ์ (ร้อยละ 50.0) และอยู่ระหว่างการสืบสวนเหตุ 7 เหตุการณ์ (ร้อยละ 50.0) โดยเป็นกลุ่มเหตุการณ์เกี่ยวกับ สัตว์ทดลองทำร้าย มากที่สุด รองลงมา คือ สัมผัสสิ่งอันตราย (วัสดุมีคม) หกรั่วไหล (สารเคมี) และ อัคคีภัย ตามลำดับ  

จากการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ศปอส. ได้สร้างองค์ความรู้/หลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ครอบคลุมตามลักษณะงาน (เคมี/ชีวภาพ/รังสี/ความปลอดภัยพื้นฐาน) และจัดอบรมให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ส่วนของการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยฯ และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ศปอส. ได้จัดทำในลักษณะของโครงการที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ สถานที่ทำงาน อาคาร รวมถึงระดับส่วนงานและระดับบุคลากร ผ่านการประกวดและตรวจประเมินความปลอดภัย

นอกจากนี้ ศปอส. มีช่องทางการสื่อสารให้ความรู้และส่งเสริมความตระหนักด้านความปลอดภัยผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ (www.shecu.chula.ac.th) เฟซบุ๊ก ไลน์ออฟฟิเชียล ทวิตเตอร์ และที่สำคัญ ศปอส. ได้พัฒนา SHECU Application  ในการรองรับการรายงานอุบัติการณ์ ให้ประชาคมจุฬาฯ ทั้งนิสิตและบุคลากรสามารถเข้ารายงานได้ทุกที่ ทุกเวลา (Everyone, Every time, Anywhere) และมีการป้องกันการเปิดเผยข้อมูลบุคคลของผู้รายงาน เพื่อสนับสนุนให้มีการรายงานสภาพไม่ปลอดภัยและอุบัติเหตุมากขึ้นสอดคล้องตามแนวคิดของ ILO ที่มุ่งสู่การปฏิบัติ โดยที่ความปลอดภัยเริ่มต้นที่ตัวเรา ประกอบกับจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยเชิงรุก โดยให้นิสิตและบุคลากรได้เป็นผู้ริเริ่ม และมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักและไม่เพิกเฉยต่ออันตรายที่อยู่ใกล้ตัว หรือในชีวิตประจำวัน เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมความปลอดภัยในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เอกสารอ้างอิง

International Labour Office. (2022). Enhancing Social Dialogue Towards a Culture of Safety and Health: What Have We Learned from the COVID-19 Crisis? https://www.ilo.org/global/topics/safety-and-health-at-work/events-training/events-meetings/safeday2022/lang--en/index.htm [Cited April 21, 2022]

World Health Organization and International Labour Organization. (2021). WHO/ILO Joint Estimates of Work-related Burden of Disease and Injury, 2000 – 2016: Global Morning Reporthttps://www.who.int/publications/i/item/9789240034945 [Cited May 5, 2022]


 การสร้างสรรค์วัฒนธรรมความปลอดภัย: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ (138 KB)