ชุดสาระความรู้จากงาน Chula Safety 2021 การประเมินสถานีงานและท่าทางการทำงานตามหลักการยศาสตร์
736 views    
  ดร.จุฑาสิริ โรหิตรัตนะ  [15 ส.ค. 65]    

         สืบเนื่องจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ในงานสัปดาห์ความปลอดภัย Chula Safety 2021 วิถีชีวิตใหม่สู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืน : New Normal Lifestyle for Sustainable Safety ได้รับเกียรติจาก ดร.เอกราช สมบัติสวัสดิ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรในหัวข้อ “การประเมินสถานีงานและท่าทางการทำงานตามหลักการยศาสตร์” ซึ่งเป็นการบรรยายในช่วงแรกของการอบรม

การยศาสตร์ (Ergonomics) คืออะไร

         ศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สามารถนำไปประยุกต์ หรือปรับปรุงสภาพงานให้เหมาะสม ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น1, 2, 3

ตัวอย่างการยศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 

  • การเลือกขนาดมือถือ ควรเลือกขนาดที่สามารถใช้มือกำรอบเครื่องได้ เพื่อสามารถปัดนิ้วได้ทั่วบริเวณหน้าจอ
  • การสะพายกระเป๋าไม่ควรให้น้ำหนักสัมภาระมากเกินไปจนทำให้หลังงอ ควรปรับระดับสายสะพายให้พอดีกับหัวไหล่ พร้อมรัดสายคาดหน้าอกเพื่อปรับท่าทางไม่ให้ก้มมากเกินไป
  • การนอนควรนอนในท่าที่กระดูกสันหลังอยู่ในท่าตรง หรือมีการรองรับส่วนที่โค้งเว้าของสรีระ
  • การเลือกมีดทำครัว ควรเลือกที่มีด้ามจับกระชับ สามารถออกแรงกดได้เหมาะสมกับอาหาร

        

ประโยชน์ของการประยุกต์ใช้การยศาสตร์

  • ช่วยให้ทำงานได้อย่างสะดวกสบายเหมาะกับสรีระของผู้ปฏิบัติงาน
  • เพิ่มความปลอดภัย หรือบรรเทาอาการบาดเจ็บจากการทำงาน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เนื่องจากไม่มีอาการรบกวนทางกาย และมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม
  • ลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาปัญหาสุขภาพ อันเกิดจากการทำงาน

การเจ็บป่วยจากการทำงานในสำนักงาน

         การเจ็บป่วยจากการทำงาน ได้แก่ ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งมีแนวโน้มของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal Disorders; MSDs) ที่มีสาเหตุมาจากการทำงานในท่าทางซ้ำ ๆ การใช้แรงมากเกินไป หรือการเสียดสีจากการสั่นสะเทือน พบว่าผู้ที่ทำงานในสำนักงานมีอาการผิดปกติของโรค MSDs มากกว่าประชากรวัยทำงานทั่วไป4 ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานในสำนักงานได้

การประเมินสถานีงานและท่าทางการทำงาน

         เป็นการค้นหาปัจจัยเสี่ยงของสถานีงาน (อุปกรณ์/เครื่องมือ) ผู้ปฏิบัติงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อทำการประเมินความเสี่ยง โดยการจำแนกความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญ เพื่อนำไปสู่การออกแบบและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ถูกหลักการยศาสตร์

         ท่าทางในอุดมคติ จุดอ้างอิงควรอยู่ในระดับตรงกันในท่ายืน และข้อแขน หัวเข่า สะโพก ควรอยู่ในมุม 90 องศาในท่านั่ง

ภาพที่ 1 ท่าทางในอุดมคติในการทำงานกับคอมพิวเตอร์
 (ภาพจาก Ergonomics for Beginners A quick reference guide (p. 12), by Dul and Weerdmeester, (2001), Taylor & Francis Inc.)


ลักษณะสถานีงานคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม1

         องค์ประกอบของสถานีงานคอมพิวเตอร์ประกอบด้วย เก้าอี้ โต๊ะ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมทั้ง อุปกรณ์เสริมในการทำงานต่าง ๆ

การจัดสถานีงานคอมพิวเตอร์

ภาพที่ 2 ท่านั่งปฏิบัติงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตามหลักการยศาสตร์

สถานีงานคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ควรมีลักษณะ ดังนี้5

  • โต๊ะ ควรสูงจากพื้น 60 – 75 เซนติเมตร
  • เก้าอี้ มีพนักพิงหลังและที่พักแขน สามารถปรับความสูงให้เท้าวางราบพื้นได้
  • จอภาพ ควรอยู่ห่างจากสายตา 40 – 60 เซนติเมตร (หรือประมาณ 1 ช่วงแขน) อยู่ระดับเดียวกับสายตา
  • แป้นพิมพ์ ควรเป็นชนิดแยกออกจากจอภาพ มีมุมเอียงระหว่าง 5 – 15 องศา
  • เม้าส์ ควรมีขนาดพอดีมือจับได้ถนัด และวางใกล้แป้นพิมพ์
  • ที่พักฝ่ามือ ควรมีหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สูงเท่าระดับแป้นพิมพ์


สภาพแวดล้อมในสำนักงานที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ ควรพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้5

  • อุณหภูมิ ควรมีอุณหภูมิอยู่ประมาณ 23 – 27 องศาเซลเซียส ไม่ควรนั่งทำงานใกล้บริเวณหน้าต่างที่ได้รับแสงแดดโดยตรง หรือไม่ควรอยู่ใกล้อุปกรณ์สำนักงานที่แผ่ความร้อน เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร
  • ความชื้นสัมพัทธ์ ควรอยู่ระหว่าง 40% - 60% ถ้ามีความชื้นของอากาศต่ำอาจทำให้รู้สึกเจ็บคอ ในขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์สูง จะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  • แสงสว่าง ควรมีความส่องสว่างในสำนักงานไม่น้อยกว่า 300 ลักซ์ และ ณ สถานีงานคอมพิวเตอร์ควรมีความส่องสว่างอยู่ในช่วง 500 – 700 ลักซ์ ไม่ควรมีแสงสะท้อนจอภาพและวัตถุใกล้เคียงจนรบกวนการมองเห็น และควรใช้หลอดไฟที่ให้แสงสีคูลไวท์ (Cool White) ในห้องสำนักงาน และสถานีงานคอมพิวเตอร์
  • เสียง ไม่ควรมีเสียงรบกวนจากอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์ และเสียงสนทนา เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างความรำคาญ และลดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

ภาพที่ 3 สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์


เอกสารอ้างอิง

  • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน). 2561. มาตรฐานการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ตามหลักการยศาสตร์ (มปอ. 301 : 2561)
  • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน). 2564. มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ของท่าทางการปฏิบัติงานในลักษณะสถิต
  • อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก. 2556. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
  • ประวิตร เจนวรรธนะกุล. 2558. โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในผู้ที่ทำงานในสำนักงาน
  • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน). 2562. คู่มือการปรับปรุงการปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ในสำนักงานตามหลักการยศาสตร์


 ชุดสาระความรู้จากงาน Chula Safety 2021 การประเมินสถานีงานและท่าทางการทำงานตามหลักการยศาสตร์ (517 KB)