SHECU ประชุมเครือข่าย ถอดบทเรียนอุบัติการณ์ แชร์แนวทางการทำงานด้านความปลอดภัยในจุฬาฯ
189 views    
    [8 ธ.ค. 65]    

      วันที่ 8 ธันวาคม 2565 เวลา 08.30 – 12.00 น. ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส. หรือ SHECU) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยฯ เจ้าหน้าที่ ศปอส. และผู้แทนจากส่วนงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมประชุมเครือข่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาฯ ครั้งที่ 4/2565 (ออนไลน์) ในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมได้นำเสนอการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ของส่วนงาน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง คปอ. ส่วนงาน และจัดทำแผนการดำเนินงาน ประจำปี 2566 พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงาน อาทิ กิจกรรม ERIC Laboratory Big Cleaning Day : จัดพื้นที่จัดเก็บของเสียและพื้นที่ในห้องปฏิบัติการให้มีความปลอดภัย และประสบการณ์เหตุไฟไหม้ในห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 อาคารสถาบัน 2 ที่มีสาเหตุมาจากระบบไฟฟ้ามีปัญหา เพื่อให้ที่ประชุมได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว

      นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จาก ศปอส. ได้นำเสนอสถิติข้อมูลอุบัติการณ์ (incidences) ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและร่วมถอดบทเรียนอุบัติเหตุ กรณีกรดไฮโดรฟลูออริก (Hydrofluoric acid) หรือกรดกัดแก้วที่มีผู้ประสบเหตุจากภายนอกมหาวิทยาลัย ได้ติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาและ ศปอส. ได้ให้ข้อมูลรวมถึงช่วยเหลือด้านการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และอุบัติเหตุจากการขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เพื่อวางแนวทางและข้อปฏิบัติในการใช้งานที่ปลอดภัย รวมถึงการตรวจพบสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (unsafe condition) อาทิ การวางสิ่งของกีดขวางเส้นทางหนีไฟ การใช้อุปกรณ์ปิดกั้นการทำงานของเครื่องตรวจจับควันและหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ ซึ่งทำให้อุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

      ก่อนปิดการประชุม ศปอส. ได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและโครงการส่งเสริมความปลอดภัย หลักสูตรอบรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 นี้ อาทิ โครงการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและตรวจสอบอาคารบูรณาการ ประจำปี พ.ศ.2566  โครงการยกระดับความปลอดภัยในการทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ประจำปี พ.ศ.2566 หลักสูตรโรคจากการทำงานและการส่งเสริมสุขภาวะในการทำงาน (E-learning) และระบบรายงาน Chula TUN-T  โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้แทนจากส่วนงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 77 คน  จาก 32 ส่วนงาน