กรณีศึกษาจากการทิ้งของเสียอันตราย (จากสารเคมี) รวมกับขยะทั่วไป และสาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง
608 views    
  ธีรพัฒน์ คล้ายมุข  [28 มี.ค. 66]    

     ของเสียอันตรายจากสารเคมีนี้ หมายถึง ของเสียอันตรายจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ (หรือสารเคมีที่เหมาะสมสำหรับใช้งานในห้องปฏิบัติการ)  โดย ณ เวลาประมาณ 00:30 น. ของวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ทาง เจ้าหน้าที่ รปภ.จุฬาฯ ได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม. ว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นบริเวณถังเก็บขยะของคณะแห่งหนึ่ง ทางจุฬาฯ จึงเข้าตรวจสอบพื้นที่ พบสารเคมีบางชนิดรั่วไหลจากขวดที่บรรจุ เมื่อได้สัมผัสกับน้ำบริเวณนั้น จึงได้เกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดควัน (ภาพ 1) ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าน่าจะเป็น  Titanium tetrachloride (TiCl4) จึงได้แยกขวดสารเคมีดังกล่าวไว้ต่างหาก เพื่อความปลอดภัย และให้ดำเนินการแจ้งต่อทางคณะฯ ให้รับทราบ เพื่อสืบหาสาเหตุที่นำสารอันตรายมาทิ้ง ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม และให้ดำเนินการกำจัดตามวิธีที่ถูกต้องต่อไป


ภาพ 1 สารเคมีที่พบในที่เกิดเหตุตามการแจ้งของรปภ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


     ณ เวลาประมาณ 11:50 น. ของวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2566 ทางศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมได้รับแจ้งเหตุและเดินทางลงพื้นที่ พบว่ามีสารเคมีอันตราย Titanium tetrachloride ถูกนำมาทิ้งไว้ในพื้นที่เกิดเหตุจริง ซึ่งมีจำนวน 3 ขวด (ภาพ 2) แต่ละขวดมีขนาดบรรจุ 1 ลิตร โดยมีสภาพของภาชนะสารเคมีเป็นดังนี้

  1. ภาชนะขวดที่ 1 และ 2 มีสภาพภายนอกค่อนข้างสมบูรณ์ มีฉลากระบุสารเคมี Titanium tetrachloride ชัดเจน ฝาปิดสนิท ไม่พบรอยรั่ว
  2. ภาชนะขวดที่ 3 พบรูรั่วที่บริเวณคอขวด สภาพขวดลักษณะเหมือนโดนสารเคมีกัดกร่อน ไม่พบฉลาก

     พบว่าจากการเคลื่อนย้ายขวดสารเคมีเพื่อไปเก็บยังที่ปลอดภัย มีควันออกจากออกจากรูรั่วของภาชนะขวดที่ 3 ตลอดเวลา การดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้นคือ แยกสารเคมีอันตรายนี้ออกจากพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ ป้องกันไม่ให้สารเคมีสัมผัสแสงแดดและน้ำ (สารมีคุณสมบัติไวในการเกิดปฏิกิริยากับน้ำ) นำขวดสารเคมีใส่ลงถังพลาสติกและจัดเก็บที่โรงเก็บของด้านหลังคณะฯ ที่ค่อนข้างปลอดภัยจากผู้คนและมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีการติดฉลากบ่งชี้ข้อมูลของของเสียสารเคมีที่ภาชนะตามระบบของมหาวิทยาลัย (ภาพ 3) ก่อนมีการเก็บไปกำจัดในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ในรอบการเก็บของเสียสารเคมีประจำเดือนของมหาวิทยาลัยต่อไป


ภาพ 2 ขวดสารเคมีที่สำรวจพบ


ภาพ 3 การจัดการเบื้องต้น


     ณ เวลาประมาณ 11:50 น. ของวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 ทางศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เข้าจัดเก็บของเสียสารเคมี โดยใช้รถขนและเจ้าหน้าที่ดำเนินงานจากบริษัทคู่สัญญาที่รับจัดการของเสียสารเคมีภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานโดยสังเขป ดังนี้

  1. แยกขวดสารเคมีที่มีรูรั่วมาใส่ถังบรรจุต่างหาก
  2. เตรียมภาชนะในการขนส่ง (ภาพ 4,5) โดยนำทรายแห้งใส่ลงในถังที่บรรจุขวดสารเคมีทั้ง 2 ถัง โดยใส่จนมีระดับถึงคอขวด โดยทรายจะช่วยดูดซับหากเกิดการรั่วไหลของสารเคมีและป้องกันไม่ให้ขวดสารเคมีล้มขณะขนส่ง
  3. นำถังที่บรรจุสารเคมีซึ่งมีทรายรองรับขึ้นรถขนของเสียอันตรายเพื่อนำไปกำจัดที่บริษัทฯ ต่อไป


ภาพ 4 เตรียมภาชนะในการขนส่ง


ภาพ 5 เตรียมภาชนะในการขนส่ง


ภาพ 6 ภาพการขนส่ง


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

  • ของเสียอันตรายจากสารเคมี คืออะไร

               ของเสียอันตรายจากสารเคมี คือ “ของเสียสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดรวมกันที่มีปริมาณ ความเข้มข้น หรือลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหรือมีส่วนทำให้มีการตาย หรือการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง หรือก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพ ตลอดจนอาจก่อให้เกิดอันตราย หรือมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมในการบำบัด การเก็บกัก การขนส่ง การกำจัดหรืออื่น ๆ”


  • ลักษณะความเป็นอันตรายของของเสียอันตรายจากสารเคมี มีอะไรบ้าง

                ลักษณะของของเสียอันตรายจากสารเคมี มีได้หลากหลาย ตัวอย่างของลักษณะความเป็นอันตราย เช่น

          - ของเสียที่ลุกติดไฟได้ เช่น ของเหลวหรือตัวทําละลายไวไฟ สารที่ลุกติดไฟได้เมื่อถูกเสียดสี

          - ของเสียประเภทกัดกร่อน (กําหนดด้วยช่วงความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH เช่น น้อยกว่า 2 หรือมากกว่า 12.5)

          - ของเสียที่ไวต่อปฏิกิริยา เช่น ของเสียมีสิ่งเหล่านี้ปนอยู่  

           > สารที่ทําปฏิกิริยารุนแรงกับน้ำ 

            > สารที่ลุกติดไฟได้เอง 

            > สารที่ให้ไอหรือแก๊สพิษเมื่อผสมกับน้ำ 

            > สารที่ระเบิดได้เมื่อถูกกระตุ้น หรือร้อนในที่จํากัด

- ของเสียที่เป็นพิษ เนื่องจากมีองค์ประกอบที่เป็นพิษ เช่น ไซยาไนด์ เอทิเดียมโบรไมด์

ในกรณีผู้ที่พบขวด/ภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายอาจสังเกตได้จากสัญลักษณ์เตือนความเป็นอันตรายข้างขวด/ภาชนะบรรจุ เช่น


ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ของเสียจากห้องปฏิบัติการที่นักเคมี (มัก) มองข้าม. 2560.


  • ทำไมต้องแยกของเสียอันตรายจากสารเคมีออกจากขยะทั่วไป

เนื่องจาก การทิ้งของเสียสารเคมีโดยตั้งใจ ไม่ได้ตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในลักษณะที่ของเสียไปปนกับขยะทั่วไป เช่น ขยะมูลฝอย อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือบุคคลทั่วไปที่มีโอกาสสัมผัสหรือเข้ามาทำกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว เช่น การทดลองที่ใช้โซเดียมเอไซด์ (Sodium azide) และนำของเสียเททิ้งลงท่อน้ำ หากท่อน้ำทิ้งทำจากโลหะ เช่น ตะกั่ว ทองแดง อาจเกิดเป็นเกลือของเอไซด์ (Azide salt) ซึ่งเป็นสารระเบิดได้ เช่นเดียวกับของเสียที่มีซิลเวอร์ไนเตรต (Silver nitrate) ต้องไม่นำมาผสมกับของเสียที่มีแอมโมเนีย (Ammonia) เพราะสามารถทำปฏิกิริยากันและให้สารประกอบเชิงซ้อนซิลเวอร์เอมีน ซึ่งหากตั้งทิ้งไว้จะสามารถกลายเป็นสารระเบิดได้ นอกจากนี้ ของเสียอันตรายที่มีความว่องไวต่อน้ำหรืออากาศ หากสัมผัสน้ำหรืออากาศ (ซึ่งบริเวณพื้นที่ที่มีขยะทั่วไปมักมีขยะเปียก) อาจให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นอันตราย เช่น ไวไฟ กัดกร่อน เป็นพิษ รวมทั้ง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิดได้

  • จุฬาฯ มีการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ อย่างไร

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหลักการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมี และมีการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่าน ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยบริหารจัดการกลางของมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว  เนื่องจากของเสียอันตรายจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ มักมีความเป็นอันตรายที่หลากหลาย และมักเป็นสาเหตุหนึ่งในเกิดอุบัติเหตุขึ้นในห้องปฏิบัติการ มักเกี่ยวข้องกับของเสียอันตรายจากสารเคมี ดังนั้น หากดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องและปลอดภัย ก็สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดย กิจกรรมที่ศูนย์ฯ มีการดำเนินการ อาทb

- กําหนดวิธีการคัดแยกประเภทของเสียตั้งแต่ต้นทาง การจัดเก็บ การบําบัดเบื้องต้นและการกําจัด

- กําหนดวิธีจัดเก็บของเสียอย่างปลอดภัย และการติดฉลากบนภาชนะบรรจุ

          - จัดเก็บข้อมูลปริมาณและประเภทของเสียจากห้องปฏิบัติการทั้งหมด เพื่อแสดงปริมาณและประเภทของเสียทั้งหมดในแต่ละปี รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการส่งกําจัด 

          - กําหนดกติกาการจัดเก็บ นัดหมายเวลาจัดเก็บ และพื้นที่รวบรวมที่ปลอดภัย 

          - กําหนดแนวทางการลดของเสีย ทั้งในเชิงปริมาณและความเป็นพิษ 

          - จัดการฝึกอบรมตามกลุ่มเป้าหมาย

  • การส่งกำจัดของเสียอันตรายจากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ ภายในจุฬาฯ สามารถทำได้อย่างไร

หากผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้งานสารเคมีในห้องปฏิบัติการมีสารเคมีลักษณะนี้แล้วต้องการจะส่งกำจัด สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อจัดการสารเคมีและของเสียสารเคมีกับทางศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนงานที่มีภารกิจจัดการด้านความปลอดภัยการใช้งานสารเคมีภายในห้องปฏิบัติการ โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรม ChemTrack&WasteTrack ผ่านทางเว็ปไซด์ www.shecu.chula.ac.th และเลือกเมนู ChemTrack&WasteTrack หรือ Link : https://shorturl.asia/YnbGz


กรณีบุคคลทั่วไปหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีพบภาชนะ/ขวดใส่สารเคมีอันตรายภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ออกห่างจากบริเวณนั้นและแจ้งศูนย์รักษาความปลอดภัย โทร.02-218-0000 , ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) โทร 0 2218 5222 และ 09 9132 6622 (ธุรการ) 08 9152 2626 (เฉพาะกรณีฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง) อีเมล shecu@chula.ac.th เพื่อดำเนินการจัดการอย่างถูกต้องต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  • กรมควบคุมมลพิษ. แนวทางการจัดการของเสียและสารอันตราย. 2557. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.pcd.go.th/info_serv/haz_battery.htm.
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ของเสียจากห้องปฏิบัติการที่นักเคมี (มัก) มองข้าม. 2560. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=220
 กรณีศึกษาการทิ้งของเสียอันตรายรวมกับขยะ (942 KB)