สาระความรู้จากงาน “Chula Sustainability Fest 2022  เรื่อง “ฮวงจุ้ยกับการจัดห้องทำงานตามหลักการยศาสตร์”
423 views    
  กร  โพธิศิริภักดิ์  [21 เม.ย. 66]    

ฮวงจุ้ย สถาปัตยกรรม และการยศาสตร์ 

การจัดห้องทำงานเพื่อสุขภาวะในการทำงานที่ดี ปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน


          

          โลกที่หมุนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้พัฒนาไปข้างหน้า แต่ไม่ได้ละทิ้งแนวคิดความรู้จากอดีต ยังคงนำมาผสานเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ให้ขับเคลื่อนโลกดิจิทัลที่น่าสนใจ เทคโนโลยีดาวเทียมและการพัฒนาด้านอวกาศ กลายเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบโปรแกรมคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาลที่แม่นยำในการสร้างแผนที่ดวงดาวสำหรับทำนายโชคชะตาทางโหราศาสตร์ เทคโนโลยีไม่ได้ผลักดันให้คนหลีกหนีไปจาก “ความเชื่อ” แต่เทคโนโลยีกลายเป็นอีกแง่มุมหนึ่งในการอธิบาย “ปรัชญาและความรู้เดิม” ที่ถูกตีความและอธิบายด้วยความรู้สมัยใหม่  “ฮวงจุ้ย” อีกหนึ่งปรัชญาจีนโบราณ ที่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีและยังคงเป็นส่วนนึงของวิถีชีวิตปัจจุบัน


ทำความรู้จักฮวงจุ้ย

          ฮวงจุ้ย (Feng Shui) เป็นศาสตร์จีนโบราณที่เชื่อว่า ชีวิตจะดีได้ด้วย 3 องค์ประกอบที่ดี  คือ “ชะตาฟ้าดี” เกิดในเวลาที่ดี มีดวงชะตาที่ดี “ชะตาคนดี”  มีความรู้ สติปัญญาความสามารถ และขยันหมั่นเพียร และ “ชะตาดินดี” มีบ้านเรือนที่อาศัยดี อยู่เย็นสุข สิ่งแวดล้อมสถานที่ทำงานดี ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ

ฮวงจุ้ย มาจากคำว่า ตี่ลี่ฮวงจุ้ย หรือ ตี้หลี่ฟงสุ่ย ตามสำเนียงจีนกลาง (地理风水) ประกอบด้วยคำสี่คำ สี่ความหมาย คือ ดิน () น้ำ ()  ลม ()  และแบบแผน ( ฮวงจุ้ยจึงเป็นการจัดการความสัมพันธ์ของพลังงานธรรมชาติรอบตัวเราให้เกิดประโยชน์อย่างมีเหตุมีผล โดยการมองสิ่งของวัตถุรอบตัว เป็นตัวแทนของธาตุแบบจีน 5 ธาตุ ประกอบด้วย ไม้  ไฟ  ดิน ทอง และน้ำ  ที่จะส่งเสริมและหักล้างกันให้สมดุลตามหลัก หยิน-หยาง

การยศาสตร์คืออะไร?

          การยศาสตร์ (Ergonomics) คือ การศึกษาข้อมูลและความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจของคนกับองค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประยุกต์ใช้ในการออกแบบและสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานของคน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดปัญหาสุขภาพ ลดการบาดเจ็บ ตอบสนองความพึงพอใจคนทำงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากที่สุด

เข้าใจหลักการพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม

          หลักการทาง “สถาปัตยกรรม” (Architecture) คือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมรอบตัว เพื่อจัดสรรบริเวณที่ว่าง (Space) ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยเพื่อตอบสนองความต้องการ ในด้านวัตถุุและด้านจิตใจ ด้วย 3 หลักการสำคัญทางสถาปัตยกรรมคือ

  • มีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงมอบความปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งาน
  • สอดคล้องกับลักษณะงานหรือวัตุประสงค์ในการใช้พื้นที่นั้น เช่น ห้องทำงานต้องเหมาะกับการทำงาน ห้องนั่งเล่นเหมาะกับการพักผ่อน
  • มีความสวยงาม สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน

 ฮวงจุ้ย การยศาสตร์ และสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องกันอย่างไร 

          หลักการของศาสตร์ฮวงจุ้ย  การยศาสตร์ และหลักสถาปัตยกรรม มีความสอดคล้องกันบนหลักการสำคัญ คือ “สิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์” จึงนำไปสู่การออกแบบทางสถาปัตยกรรม การจัดการพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อม การออกแบบและผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย มีสุขภาพกายและสภาวะทางอารมณ์ที่ดี

การจัดห้องทำงานด้วย 3 ศาสตร์ เน้นสะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพกาย สบายใจ

          จากการผสานศาสตร์ความรู้จาก ฮวงจุ้ยตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมและหลักการยศาสตร์  ห้องทำงานที่มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตในการทำงาน จะช่วยให้สามารถทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยมีหลักการที่ควรคำนึงถึงดังนี้

          การจัดวางโต๊ะเก้าอี้และการจัดการพื้นที่ภายในห้องทำงาน

  • ห้องทำงานควรแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำงานและพื้นที่ทางเดินที่ชัดเจน ทางเดินสามารถเดินผ่านได้สะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง  โซนโต๊ะทำงานแยกส่วนออกจากทางเดินเพื่อป้องกันการถูกรบกวนจากคนที่เดินสัญจรไปมา (หยิน-หยางสมดุล) ทำให้เกิดความรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย
  • โต๊ะทำงานควรหันหลังเข้าหาผนังทึบ มีระยะห่างจากผนังอย่างเหมาะสม เพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวก โดยไม่หันหลังหาประตู/หน้าต่าง เพื่อป้องกันการถูกรบกวนจากการเคลื่อนไหว และเพื่อป้องกันข้อมูลความลับในการทำงาน
  • โต๊ะทำงานควรได้รับแสงจากธรรมชาติ การใช้แสงธรรมชาติส่งผลต่อการรับรู้ของสมองได้ดีว่าแสงจากหลอดไฟ โต๊ะหันไปยังพื้นที่โล่ง หรือมองเห็นวิวทิวทัศน์ (ฮวงจุ้ยของห้องที่เห็นวิวทิวทัศน์ เหมาะกับผู้นำ ผู้บริหาร แสดงถึงการมองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ มีความก้าวหน้า)
  • ภายในห้องทำงานควรมีแสงสว่างที่เหมาะสมไม่มืดหรือสว่างเกินไป จุดติงตั้งหลอดไฟให้แสงสว่างต้องเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเงาที่รบกวนการทำงาน  ห้องที่มืด (พลังหยินมากเกินไป) รู้สึกง่วง เชื่องช้า  ห้องสว่างมาก (พลังหยางมากเกินไป) ตื่นเต้น อาการแสบตา ไม่มีสมาธิ
  • โต๊ะทำงานไม่ควรตั้งติดเสาทึบขนาดใหญ่หรืออยู่ใต้คานขนาดใหญ่ เพราะแสงและเงาที่ตกกระทบจะรบกวนการทำงาน (หลักฮวงจุ้ยหมาถึงพลังกดทับ ทำให้การงานไม่ก้าวหน้า ไม่มีความกระตือรือร้น)
  • การใช้สี สิ่งของตกแต่งภายในห้องทำงานตามหลักทางจิตวิทยาของการใช้สี และใช้สีที่สอดคล้องกับลักษณะงานที่ทำ ทำให้คนทำงานมีอารมณ์และความรู้สึกที่ดี (สีเป็นตัวแทนของธาตุ ที่จะส่งเสริมหักล้าง ให้เกิดภาวะหยิน-หยางที่สมดุลในการทำงาน)
  • ห้องทำงานควรสะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดีในการทำงาน (ฮวงจุ้ย ลมน้ำเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง คือสถานที่ที่ดี อยู่แล้วไม่เจ็บป่วย สุขภาพดี หมายถึง สถานที่ซึ่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว)

การเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงาน

  • สัดส่วนของโต๊ะและเก้าอี้เหมาะสมต่อลักษณะการใช้งาน ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกัน (โต๊ะไม่สูงเกินไป/เก้าอี้ไม่เตี้ยเกินไป เมื่อใช้งานร่วมกัน)
  • มีความเหมาะสมกับสรีระ สัดส่วนของผู้ใช้งาน
  • ทำจากวัสดุทนทานได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน (ตามหลักฮวงจุ้ยเน้นอุปกรณ์ขอบมน ไม่มีเหลี่ยมมุม ช่วยเรื่องความปลอดภัยและเชื่อว่าสิ่งของแหลมคมไม่มงคล)
  • โต๊ะและเก้าอี้เหมาะสมกับท่าทางและการเคลื่อนไหวของร่างกายตามธรรมชาติ (ตามรูป)


SHECU, Safety, Health, Ergonomics, office syndrome

ที่มา : https://ergonomictrends.com/creating-perfect-ergonomic-workspace-ultimate-guide


เก้าอี้ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน เมื่อนั่งแล้วข้อศศอกเข่า สะโพก ควรทำมุม 90 – 120 องศาพนักพิงรองรับหลังให้ตั้งตรงได้พอดี


SHECU, Safety, Health, Ergonomics, office syndrome

ที่มา : https://ergonomictrends.com/creating-perfect-ergonomic-workspace-ultimate-guide


โต๊ะที่เหมาะสมต่อการใช้งานควรมีความสูงอยู่ที่ 25-30 นิ้วและควรปรับความสูงให้เหมาะสมกับความสูงของเก้าอี้และสรีระของผู้ใช้งานได้

SHECU, Safety, Health, Ergonomics, office syndrome

ที่มา : https://www.elifegear.com/why-ergo-desk/

ตัวอย่างลักษณะของโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมต่อการนั่งทำงาน


การจัดโต๊ะทำงานตามหลักการยศาสตร์และฮวงจุ้ย

          การจัดพื้นที่บนโต๊ะทำงานที่เหมาะสมต่อการทำงาน ปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดธรรมชาติ พร้อมด้วยหลักฮวงจุ้ย ควรแบ่งพื้นที่โต้ะทำงานออกเป็น 3 ส่วน และจัดวางสิ่งของบนพื้นโต้ะให้เหมาะสมกับการใช้งาน (ตามรูป)

1) พื้นที่ใช้งานหลัก เป็นที่ใกล้ตัวผู้ทำงานมากที่สุด เป็นระที่สามารถหยิบจับสิ่งของได้โดยไม่ต้องเอื้อมหรือเหยียดตัว เหมาะกับการวางสิ่งของที่ต้องใช้งานบ่อย ๆ เช่น เมาส์ คีย์บอร์ด แท็บแล็ต โทรศัพท์มือถือ ไม่ควรวางแก้วน้ำ เครื่องดื่ม ของตกแต่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการกีดขวางการทำงาน

2) พื้นที่ใช้งานรอง เหมาะสำหรับการวางสิ่งของที่ต้องใช้งานเป็นครั้งคราว เช่น หน้าจอมอนิเตอร์  หนังสือ เอกสาร โทรศัพท์ เครื่องคิดเลข สมุดโน้ต เครื่องเขียน (ตามหลักฮวงจุ้ยขวามือทิศเสือขาว สงบนิ่ง มั่นคง ควรวางหนังสือเอกสาร ซ้ายทิศมังกร เคลื่อไหว ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าแท็บแล็ต และเครื่องคิดเลข)

3) พื้นที่ไม่ใช้งาน เหมาะกับการวางของตกแต่ง ที่ไม่ได้ใช้งาน สิ่งของเสริมฮวงจุ้ย (สิ่งของเสริมฮวงจุ้ยตามธาตุทั้งห้า  แบ่งตามสี รูปทรง และลักษณะของสิ่งของ เช่น ต้นไม้ สีเขียว รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนธาตุไม้  สีแดง ชมพู  รูปทรงสามเหลี่ยม แทนธาตุไฟ สีครีม ดำ เทา น้ำตาล สี่เหลี่ยมจัตุรัสแทนธาตุดิน  โลหะ ไฟฟ้า ทรงกลม สีวาว แทนธาตุทอง และสีฟ้า น้ำเงิน เส้นโค้ง คลื่นแทนธาตุน้ำ เป็นต้น  ขวามือควรวางสิ่งของมั่นคง เช่น ลูกโลก ต้นไม้มงคล แทนความสงบ ราบรื่นในทิศเสือขาว  ซ้ายมือวางน้ำพุ น้ำตก ภาพม้า เน้นการเคลื่อนไหว ในทิศมังกร)

 การวางต้นไม้มงคลบนโต๊ะทำงานให้เลี่ยง ต้นไม้ที่มีหนามแหลม เนื่องจากอาจเป็นอันตรายและในทางฮวงจุ้ย เข็ม หนามแหลม หมายถึงการทิ่มแทง ความไม่สงบ


SHECU, Safety, Health, Ergonomics, office syndrome

ที่มา : https://www.shecu.chula.ac.th/


          อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดห้องทำงานและโต๊ะทำงาน ที่ทุกศาสตร์มีความสอดคล้องกัน คือ การจัดการสภาพแวดล้อมในห้องทำงานและโต้ะทำงานให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ลดความเสี่ยงและอันตรายในการทำงาน พร้อมสร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้มีความพร้อมในการทำงาน เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ในขณะที่คนทำงานมีความสุขภาพที่ดีและมีความสุข