กิจกรรม “วันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล” 28 เมษายน 2566
462 views    
    [27 เม.ย. 66]    

     


          สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพที่ดี ถือเป็นหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของประชาคมจุฬาฯ ” คือการดำเนินนโยบายและขับเคลื่อนงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สอดคล้องตามกรอบแนวคิดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) และมติที่ประชุม แรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference; ILC) ที่ว่า “A safe and healthy working environment is a fundamental principle and right at work” ซึ่งได้รวมอนุสัญญาความปลอดภัยและอาชีวอนามัยกับกรอบการส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ให้เป็นหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานด้านความปลอดภัย โดยถือว่าประเทศสมาชิกทั้งหมดจะเคารพและส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ


กิจกรรมวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล : "การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อการป้องกันโรคจากการทำงาน"

SHECU เชิญชวนส่วนงานภายในจุฬาฯ ลงทะเบียนขอยืมเครื่องตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน พร้อมรายงานผลการตรวจวัด สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือผลกระทบที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคจากการทำงาน


ขั้นตอนการเข้าร่วมกิจกรรม

1. ลงทะเบียน ขอยืมเครื่องมือตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน
   ลงทะเบียนขอยืมเครื่องมือฯ ที่ https://www.shecu.chula.ac.th/home/ms-add.asp?DocType=2

2. ดำเนินการตรวจวัดสภาพแวดล้อม ภายในส่วนงาน
   ศึกษาข้อมูลรายละเอียดของเครื่องมือและชมวิดีโอสาธิตวิธีการใช้เครื่องมือ ได้ที่ https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=570

3. รายงานผลการตรวจวัด
   ดาวน์โหลด แบบรายงานผลการตรวจวัด สำหรับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยกรอกข้อมูลของผู้ตรวจวัดและผลการตรวจวัดในไฟล์ แล้วส่งไฟล์ หรือสแกน ส่งมาที่ shecu@chula.ac.th ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวนิภาพร กุลสุข โทร. 09 9132 6622 (ในวันและเวลาราชการ) หรือ อีเมล: shecu@chula.ac.th


รู้จักเครื่องมือตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน 

ศึกษารายละเอียดของเครื่องมือ และรับชมวิดีโอวิธีการใช้งานเครื่องมือเพิ่มเติม ที่ https://www.shecu.chula.ac.th/home/content.asp?Cnt=570

shecu instrument


รู้จักและเตรียมรับมือโรคจากการทำงาน

ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2566 กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน เป็น 4 กลุ่ม 106 โรคจากการทำงาน ดังนี้


1. โรคจากการสัมผัสสารก่อโรค หรือสภาพแวดล้อมจากการทำงาน 

    1.1 โรคที่เกิดขึ้นจากสารเคมี 41 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น แคดเมียม แมงกานีส สารหนู  ปรอท ตะกั่ว เบนซีนหรือสารอนุพันธ์ของเบนซีน และฟอสจีน เป็นต้น

    1.2 โรคที่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพ 7 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น โรคหูตึงจากเสียง โรคจากความสั่นสะเทือน โรคจากอุณหภูมิต่ำหรือสูงผิดปกติมาก เป็นต้น

    1.3 โรคจากสารชีวภาพและโรคติดเชื้อ 9 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคบาดทะยัก วัณโรค โรคแอนแทรกซ์ เป็นต้น

2. โรคจากการทำงานที่มีผลต่ออวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย หรือจิตใจ

    2.1 โรคระบบหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน 13 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น โรคกลุ่มนิวโมโคนิโอลิสที่เกิดพพังผืดในเนื้อปอด (ซิลิโคสิส แอสเบสโทสิส) โรคบิสสิโนสิสเป็นต้น

    2.2 โรคผิวหนัง 4 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น โรคผิวหนังอักเสบและลมพิษจากสารก่อภูมิแพ้ โรคด่างขาว เป็นต้น

    2.3 โรคและความผิดปกติในระบบกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็นและข้อ 8 กลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการแผ่นกระดูกอ่อนรองข้อเข่าบาดเจ็บจากการคุกเข่าและนั่งยองทำงานเป็นเวลานาน เป็นต้น

    2.4 ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม 2 กลุ่ม

        1) โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ  (traumatic stress disorder)   

        2) ความผิดปกติทางจิตหรือพฤติกรรมอื่นให้เป็นไปตามความเห็นของ คณะกรรมการการแพทย์

3. โรคมะเร็งจากการทำงาน โดยมีสาเหตุจาก 21 กลุ่ม  เช่น แอสเบสตอล  ไวนิลคลอไรด์ เบนซีน รังสีแตกตัว ฝุ่นไม้ เป็นต้น

4. โรคอื่น ๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะของงาน หรือ เนื่องจากการทำงาน ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนเงินทดแทน ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน

ที่มา : https://www.shecu.chula.ac.th/home/content1.asp?Cnt=841