SHECU จับมือ วช. จัดเสวนาและฝึกอบรมแนวทางการยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ
249 views    
    [5 ก.ค. 66]    

วันพุธ ที่ 5 กรกฎาคม 2566 ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) หรือ SHECU ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ปี 2566 : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางการยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี โดยได้รับเกียรติจาก นายสมปรารถนา สุขทวี  รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาและการอบรมฯ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนาวยการ ศปอส. ศาสตราจารย์ ฉัตรชัย วิริยะไกรกุล รองศาสตราจารย์ ดร.วราพรรณ  ด่านอุตรา รองศาสตราจารย์สุชาตา  ชินะจิตร คณะกรรมการที่ปรึกษา ศปอส. ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) เวลา 09.00 – 16.00 น. 

ในช่วงเช้าเริ่มด้วยการสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ในหัวข้อ “ทำความรู้จักนโยบาย วช. ด้าน Lab Safety และมาตรการขับเคลื่อน ที่นักวิจัยต้องรู้” ที่เกี่ยวข้องกับ นโยบายและการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี พ.ศ. 2566 - 2570 และมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยให้เกิดการยกระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยมี รองศาสตราจารย์ สุชาตา ชินะจิตร ทำหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ และผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีสถาบันการศึกษา จากนั้น ดร.ขวัญนภัส สรโชติ หัวหน้ากลุ่มภารกิจพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ศปอส. แนะนำระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ระบบการสำรวจสภาพความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ (ESPReL Checklist) ระบบดิจิทัลอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการแบบไร้รอยต่อ (Smart Lab) แบบเรียนออนไลน์ด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ (E-Learning)  ระบบตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการในรูปแบบ peer evaluation และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก.2677-2558) พร้อมการอบรมฝึกปฏิบัติการใช้งาน ESPReL Checklist  โดย คุณชนัญญา เพิ่มชาติ เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยแม่ข่ายด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการฯ ร่วมให้คำแนะนำการใช้งาน

บ่ายวันเดียวกันได้จัดกิจกรรม เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การยกระดับความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ในหัวข้อ “ทำแล้ว ทำไมทำต่อ” โดยได้รับเกียรติจาก ผู้แทนห้องปฏิบัติการที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์  ได้แก่ อาจารย์ ดร. สุรีย์พร หอมวิเศษวงศา รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คุณรุ่งเกียรติ ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ ศูนย์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คุณวาทิศ วารายานนท์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร. พรพิมล มะหะหมัด หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการและวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวรัตน์ จันทะโร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  รับหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ ได้แก่  การผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการในระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การจัดทำฐานข้อมูลสารเคมี การจัดการคลังสารเคมี การจัดเก็บและการเคลื่อนย้ายสารเคมี การจัดการและกำจัดของเสียสารเคมี การประเมินความเสี่ยงในห้องปฏิบัติการ การจัดทำระบบเอกสารเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการ และการใช้ประโยชน์จากดำเนินงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมรับฟังสอบถามและแสดงความเห็น

ทั้งนี้มีบุคลากรจากส่วนงานภายในจุฬาฯ สถาบันศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจและกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสิ่แวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนชลประทานวิทยา บริษัท นิคส์ อินโนเวชั่น จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรฮานา เพทช็อป บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท ลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เซตต้า ฟาร์มา จำกัด เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ  200 คน