SHECU จับมือ Chula Zero Waste สัมมนาปรับโครงสร้างใหม่ มุ่งพัฒนาจุฬาฯ สู่มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน
194 views    
    [4 มี.ค. 67]    

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) หรือ SHECU นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี ด้านการวิจัย ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการ ศปอส. และ นายกอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ พร้อมเจ้าหน้าที่ ศปอส. และกลุ่มกรีน (Chula Zero Waste) ร่วมกิจกรรมสัมมนาบุคลากรประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์ ของ ศปอส. ในการพัฒนางานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมอักษร และทำกิจกรรมส่งเสริมความยั่งยืนในชุมชนมาบจันทร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ ศปอส. ร่วมกับกลุ่มกรีน (Chula Zero Waste) เดินทางไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำ ณ แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์ บ้านมาบจันทร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยมีผู้ใหญ่วันดี อินทร์พรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านมาบจันทร์ เป็นวิทยากรบรรยายแนวทางการจัดการน้ำและการเกษตรแบบพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร การทำสวนทุเรียนและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ภายในชุมชน ซึ่งเป็นการวิจัยและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยเริ่มต้นจากเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนปริมาณน้ำเทียบกับปริมาณการใช้งานเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดทั้งปี ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ การกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำของชุมชน สร้างฝายทดน้ำ และสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน รวมถึงการรณรงค์ให้คนในชุมชนเกิดพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตรของชุมชน ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชนไปสู่ความยั่งยืน จากนั้นผู้ใหญ่บ้านได้นำทีมเจ้าหน้าที่ ศปอส. กลุ่มกรีน ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์การเรียนรู้บ้านมาบจันทร์ เดินทางไปยังเขายายดาในพื้นที่บ้านมาบจันทร์ ดำเนินการสร้างและซ่อมฝายชะลอน้ำตามเส้นทางน้ำธรรมชาติบนเขายายดา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการชะลอน้ำและกักเก็บน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และลดความเร็วในการไหลลงสู่ทะเลของน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ซึ่งการสร้างฝายจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน กักเก็บความชุ่มชื้นในดิน ผืนป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากรน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ ศปอส. ร่วมกับกลุ่มภารกิจสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมอบรมการจัดทำคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Procedure Manual; PM) ในสายงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการจัดทำหลักสูตรการอบรมด้านความปลอดภัย คู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุมเอกสารของ ศปอส. และคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มกรีน พร้อมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำคู่มือการทำงาน (Work Instructions; WI) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เอมอร เบญจวงศ์กุลชัย เป็นวิทยากร หลังจากนั้นเป็นการสัมมนาชี้แจง โครงสร้างส่วนงาน ศปอส. เดิมและการปรับขยายโครงสร้างส่วนงานใหม่ให้ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การแบ่งหน่วยงานภายในสำนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565 และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในปีงบประมาณถัดไป  ณ ห้องประชุม โรงแรมอักษร อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 วันที่ 1 มีนาคม 2567 ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ ศปอส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ภารกิจสิ่งแวดล้อม เข้าทัศนศึกษาการจัดการพลังงานแบบหมุนเวียน ณ อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ณ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) สำนักงานมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการความรู้ในการนำความเย็นจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas; LNG) กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ภายในอาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา เพื่อหล่อเลี้ยงพันธุ์ไม้เมืองหนาวให้เจริญเติบโตได้ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนตลอดทั้งปี นับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน