จุฬาฯ ร่วมกับ วช. จัดประชุมประจำปีเครือข่ายมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 4 (ปี 2567)
522 views    
    [11 ก.ย. 67]    

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีเครือข่ายมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการครั้งที่ 4 (ปี 2567) ภายใต้หัวข้อ "Digital Transformation for National Laboratory Safety Management: Possibility and How?" ในวันที่ 5 กันยายน 2567 ณ ห้องราชเทวี แกรนด์บอลรูม โรงแรมเอเชียราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม และ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาแทนการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการ ศปอส. คณะผู้บริหารผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากสถาบันแม่ข่าย ลูกข่าย และสมาชิกเครือข่ายเข้าร่วมประชุม

          สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีนโยบายด้านมาตรฐานการวิจัยและความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และมีการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติผ่านความร่วมมือในระบบเครือข่ายภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) ผ่านระบบแม่ข่ายและลูกข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 วช. ได้ดำเนินจัดกิจกรรมการประชุมเครือข่ายประจำปีด้านมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการแสดงผลงานและเผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการของประเทศไทย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (good practices) ระหว่างหน่วยงาน มีการสร้างสรรค์การนำมาตรฐานการวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างการยอมรับในคุณภาพของงานวิจัยที่ดำเนินงานเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน

          ในโอกาสนี้ ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันการพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ และเป็นผู้แทน วช. และเครือข่ายมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ กล่าวขอบคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา และ รองศาสตราจารย์ สุชาตา ชินะจิตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ริเริ่มสนับสนุน และผลักดันการดำเนินงานมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการมาตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่าน โดย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้แทนในการมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน และในช่วงบรรยายพิเศษในหัวข้อ Digital Transformation for National Laboratory Safety Management: Possibility and How? ได้รับเกียรติจากอาจารย์ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี ที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมองค์กร และ Digital Transformation ทั้งในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน บรรยายถึงการนำแนวคิดของ Digital transformation ไปใช้ในการปฏิรูปองค์กรให้สามารถดำเนินงานพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายภูมิภาคต่าง ๆ ในการจัดบูทกิจกรรมด้านความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร

          ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมประกวดห้องปฏิบัติการที่มีผลงานด้านความปลอดภัยที่เป็น good practices ประจำปี 2567 (Lab of the Year 2024) โดยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการคัดเลือกจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 6 ห้องปฏิบัติการ เข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัล ดังนี้

  1. ห้องปฏิบัติการวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดีเด่น”
  2. ห้องปฏิบัติการอาหารจุลชีววิทยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดี”
  3. ห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดี”
  4. ห้องปฏิบัติการเคมีเชิงฟิสิกส์ F02211A ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดี”
  5. ห้องปฏิบัติการเคมี 2 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดี”
  6. องปฏิบัติการเคมี 2 (2-230) มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ได้รับรางวัล “ห้องปฏิบัติการปลอดภัยระดับดี”

          สำหรับรางวัล Popular vote 3 รางวัล จากห้องปฏิบัติการ 36 ห้อง ที่เข้าร่วมนำเสนอโปสเตอร์ ได้แก่

  1. ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ (PSU Dent1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  2. ห้องปฏิบัติการจุลชีวะ การประปานครหลวง
  3. ห้องปฏิบัติการโลหะและแร่ธาตุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

          การประชุมเครือข่ายประจำปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ผู้บริหารภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ข่าย มหาวิทยาลัยลูกข่าย จำนวน 328 คน


วิดีโอบันทึกการประชุมประจำปีเครือข่ายมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ครั้งที่ 4 (ปี 2567) : “Digital Transformation for National Laboratory Safety Management: Possibility and How?”