สาระสำคัญ
คำจำกัดความ
ทำงานในที่สูง หมายความว่า การทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงานที่สูงจากพื้นดิน หรือ จากพื้นอาคาร ตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ซึ่งลูกจ้างอาจพลัดตกลงมาได้
นั่งร้าน หมายความว่า โครงสร้างชั่วคราวที่สูงจากพื้นดิน หรือ จากพื้นอาคาร หรือส่วนของสิ่งก่อสร้างสำหรับเป็นที่รองรับลูกจ้าง วัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์
อาคาร หมายความว่า อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
บททั่วไป
นายจ้างต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- จัดให้มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานในที่สูง ที่ลาดชัน ที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ และที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) การระบุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน
(2) การวางแผนการปฏิบัติงาน
(3) การป้องกันและควบคุมอันตราย
(4) การอบรมหรือชี้แจงให้ลูกจ้างได้รับทราบก่อนเริ่มเข้าปฏิบัติงานและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
- ให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะ และคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ในการประกอบ การติดตั้ง การตรวจสอบ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูงหรือที่ลาดชัน จากวัสดุกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ หากไม่มีนายจ้างต้องดำเนินการให้วิศวกรเป็นผู้จัดทำ และต้องมีสำเนาเอกสารไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
- จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานเหมาะสมกับสภาพของการทำงานในที่สูง ที่ลาดชัน ที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ และที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ และลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน เช่น เข็มขัดนิรภัย เชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต หมวกนีรภัย รองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง หรือถุงมือ และดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์นั้น
- จัดให้มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตราย และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยก่อนใช้งานทุกครั้ง และต้องมีสำเนาเอกสารไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
- กรณีที่ต้องทำราวกั้น หรือ รั้วกันตก ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร (90 ซม.) แต่ไม่เกิน 110 เซนติเมตร (1.10 เมตร) ที่มีความมั่นคง แข็งแรงและปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากใช้แผงทึบแทนราวกั้นหรือรั้วกันตก แผงทึบต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
การป้องกันอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชัน
นายจ้างต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ในการทำงานในที่สูง ต้องจัดให้มีนั่งร้าน หรือ ดำเนินการด้วยวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้าง ซึ่งต้องมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย
- ในการทำงานในที่สูง ตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ต้องจัดทำราวกั้น หรือรั้วกันตก ตาข่ายนิรภัย หรืออุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน รวมทั้งต้องจัดให้มีการใช้เข็มขัดนิรภัย และเชือกนิรภัย หรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ตลอดระยะเวลาการทำงาน
- หากมีปล่องหรือช่องเปิดต่าง ๆ ที่อาจทำให้ลูกจ้างพลัดตกนั้น ต้องจัดทำฝาปิดที่แข็งแรง ราวกั้น รั้วกันตก หรือแผงทึบ พร้อมทั้งติดป้ายเตือนอันตรายให้เห็นได้อย่างชัดเจน
- ขณะที่ต้องทำงานในที่สูงนอกอาคาร หรือ พื้นที่เปิดโล่ง และมีพายุ ลมแรง ฝนตกหรือฟ้าคะนอง หากจำเป็นต้องให้ลูกจ้างทำงานและเพื่อความปลอดภัยและบรรเทาเหตุอันตรายที่เกิดขึ้น ต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของลูกจ้าง
- ในการใช้บันไดไต่ชนิดเคลื่อนย้ายได้เพื่อทำงานในที่สูง ต้องดูแลการตั้งบันไดให้ระยะระหว่างฐานบันได ถึง ผนังที่วางพาดบันไดกับความยาวของช่วงบันไดนับจากฐานถึงจุดพาดมีอัตราส่วน 1 : 4 หรือ มีมุมบันไดที่ตรงข้ามผนัง 75 องศา พร้อมกันนี้ บันไดต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยต่อการใช้งาน มีความกว้างของบันไดไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
- ในการใช้บันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ที่มีความสูงเกิน 6 เมตรขึ้นไป ต้องดูแลบันไดไต่ชนิดติดตรึงกับที่ให้มีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรงและปลอดภัย และต้องทำโกร่งบันไดเพื่อป้องกันการพลัดตกของลูกจ้าง
- ในการใช้ขาหยั่ง หรือม้ายืน ต้องใช้ขาหยั่ง หรือ ม้ายืน ที่มีโครงสร้างที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยในการใช้งาน และมีพื้นที่ยืนทำงานที่เพียงพอ
- หากทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกิน 15 องศา แต่ไม่เกิน 30 องศาจากแนวราบ และมีความสูงของพื้นระดับที่เอียงตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีนั่งร้าน หรือ เข็มขัด และ เชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ หรือมาตรการป้องกันการพลัดลงอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพของการทำงาน
- หากทำงานบนที่ลาดชันที่ทำมุมเกิน 30 องศาจากแนวราบ และมีความสูงของพื้นระดับที่เอียงตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีนั่งร้านที่เหมาะสมกับสภาพการทำงาน หรือมาตรการป้องกันการพลัดตกที่เหมาะสมกับสภาพการทำงาน และเข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์
การป้องกันอันตรายจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย
นายจ้างต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- การลำเลียงวัสดุสิ่งของ ขึ้น หรือลงจากที่สูง หรือ ลำเลียงวัสดุสิ่งของบนที่สูง ต้องจัดให้มีราง ปล่อง เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการลำเลียง เพื่อป้องกันอันตรายจากวัสดุสิ่งของกระเด็นหรือตกหล่น
- ต้องกำหนด เขตอันตราย ในพื้นที่ที่มีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ และติดป้ายเตือนอันตรายบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจนกระทั่งเสร็จงาน
- ในกรณีที่วัสดุสิ่งของอยู่บนที่สูง ต้องจัดทำขอบกันของตก หรือ มาตรการป้องกันอื่นใดที่เหมาะสมกับสภาพการทำงาน
- ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานบริเวณที่อาจมีการกระเด็น ตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของ ต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงาน
- ในการเก็บหรือกองวัสดุสิ่งของ ต้องจัดเรียงวัสดุสิ่งของให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย ทำผนังกั้นหรือวิธีการอื่นใด เพื่อป้องกันอันตรายจากการตกหล่นหรือพังทลายของวัสดุสิ่งของนั้น
- ในการเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของ ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันอันตรายจากตกหล่น หรือพังทลายของวัสดุสิ่งของขณะที่เคลื่อนย้ายด้วย
- ในกรณีทำงานในท่อ ช่อง โพรง บ่อ หรือสถานที่ที่อาจเกิดการพังทลายได้ ต้องจัดทำผนังกั้น ค้ำยัน หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันอันตรายจากการพังทลายที่อาจเกิดขึ้นได้
การป้องกันอันตรายจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ
นายจ้างต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- ในการทำงานบริเวณ หรือสถานที่ หรือ ลักษณะของการทำงานอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการพลัดตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เช่น ถัง บ่อ กรวย ภาชนะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่อาจพลัดตกลงไปได้ ต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้นที่มั่นคงแข็งแรง จัดทำราวกั้น หรือรั้วกันตกที่มั่นคงแข็งแรงล้อมรอบภาชนะนั้นเพื่อป้องกันการพลัดตกลงไปของลูกจ้าง หากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องจัดให้มีการสวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงาน
- ต้องไม่ให้ลูกจ้างทำงานนภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ เช่น ถัง บ่อ กรวย ภาชนะหรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่อาจพลัดตกลงไปได้
- ต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้น จัดทำราวกั้น หรือรั้วกันตก หรือสิ่งป้องกันอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับสภาพการทำงาน หรือ จัดให้สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงาน
- ในการทำงานในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ ต้องให้สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยหรือสายช่วยชีวิต ตลอดระยะเวลาการทำงาน
- ในการทำงานบนภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีสิ่งปิดกั้น จัดทำราวกั้นหรือรั้วกันตก หรือสิ่งป้องกันอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับสภาพการทำงาน และต้องให้สวมใส่เข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัย หรือสายช่วยชีวิตตลอดระยะเวลาการทำงาน
ศึกษากฎหมายฉบับเต็ม ตามไฟล์แนบท้ายนี้
![]() |
ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
โทร.: 0 2218 5222, 09 9132 6622 (ในวันและเวลาราชการ) 09 9132 6622 (เฉพาะกรณีฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง) | |
อีเมล: shecu@chula.ac.th |
จำนวนผู้เข้าชม | |||
|
|||
12 ตุลาคม 2562 |