พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559
2,565 views    
        
ด้าน :
รังสี
เรื่อง :
-
ลำดับกฎหมาย :
พระราชบัญญัติ
การนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย :
บังคับตามกฎหมาย
วันที่ประกาศ :
5 สิงหาคม 2559
วันที่มีผลบังคับใช้ :
1 กุมภาพันธ์ 2560
พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559

สาระสำคัญ

คำจำกัดความ : 

"พลังงานนิวเคลียร์" หมายความว่า พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากการแยก รวม หรือแปลงนิวเคลียส
"รังสี" หมายความว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออนุภาคใด ๆ ที่มีความเร็ว ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ในตัวกลางที่ผ่านไป
"วัสดุกัมมันตรังสี" หมายความว่า ธาตุหรือสารประกอบใด ๆ ที่องค์ประกอบส่วนหนึ่งมีโครงสร้างภายในอะตอมไม่คงตัว และสลายตัวโดยปลดปล่อยรังสีออกมา ทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือเกิดจากการผลิตหรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์ การผลิตจากเครื่องกำเนิดรังสี หรือกรรมวิธีอื่นใด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัสดุกัมมันตรังสีที่มีลักษณะเป็นวัสดุนิวเคลียร์
"เครื่องกำเนิดรังสี" หมายความว่า เครื่อง หรือ ระบบอุปกรณ์เมื่อมีการให้พลังงานเข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดการปลดปล่อยรังสีออกมา และอุปกรณ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องกำเนิดรังสี
"วัสดุนิวเคลียร์" หมายความว่า
(1) วัสดุต้นกำลัง ได้แก่
    (ก )ยูเรเนียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ทอเรียม หรือวัสดุอื่นตามที่กำหนด ทั้งนี้ รวมถึงสารประกอบ หรือสารผสมของธาตุหรือวัสดุดังกล่าวตามที่กฎกระทรวงกำหนด
    (ข) แร่หรือสินแร่ซึ่งประกอบด้วยวัสดุตาม(ก) อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง โดยมีอัตราความเข้มข้นตามที่กฎกระทรวงกำหนด
(2) วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ ได้แก่
    (ก) พลูโทเนียม ยูเรเนียม 233  ยูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะด้วยยูเรเนียม 233 หรือยูเรเนียม 235 หรือสารประกอบของธาตุดังกล่าว
    (ข) วัสดุใด ๆ ที่มีวัสดุตาม (ก) อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างผสมเข้าไป
    (ค) วัสดุอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด
(3) วัสดุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
"เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์" หมายความว่า เครื่อง หรือระบบอุปกรณ์ใด ๆ ซึ่งออกแบบ หรือใช้เพื่อก่อให้เกิดพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานและเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
"เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน" หมายความว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่นำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตเป็นพลังงานในรูปแบบอื่น
"เครื่องปฏิกรณ์นวิเคลียร์วิจัย" หมายความว่า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้นิวตรอน หรือรังสีเพื่อการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย หรือการอื่น
"สถานประกอบการทางนิวเคลียร์" หมายความว่า
(1) สถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงาน แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานสำหรับการขับเคลื่อน
(2) สถานที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย
(3) สถานที่แต่งแร่เพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุนิวเคลียร์
(4) สถานที่เปลี่ยนรูป หรือเสริมสมรรถนะวัสดุนิวเคลียร์
(5) สถานที่ประกอบหรือจัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
(6) สถานที่จัดเก็บหรือแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว
"เชื้อเพลิงนิวเคลียร์" หมายความว่า วัสดุนิวเคลียร์ที่ผ่านกระบวนการเหมาะสมเพื่อใช้เป็นแหล่งกำเนิดพลังงานนิวเคลียร์
"เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว" หมายความว่า เชื้อเพลิงนิวเคลียร๋ที่ผ่านการใช้งานในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว และไม่นำไปใช้งานในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก
"กากกัมมันตรังสี" หมายความว่า วัสดุไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ดังต่อไปนี้
(1) วัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่ไม่อาจใช้งานได้ตามสภาพอีกต่อไป
(2) วัสดุที่ประกอบหรือปนเปื้อนด้วยวัสดุนิวเคลียร์หรือวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพรบ.นี้ ทั้งนี้ วัสดุที่ประกอบหรือปนเปื้อนดังกล่าวต้องมีค่ากัมมันตภาพต่อปริมาณ หรือกัมมันตภาพรวมสูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยที่คณะกรรมการกำหนด
(3) วัสดุอื่นใดที่มีกัมมันตภาพตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว
"ทำเครื่องกำเนิดรังสี" หมายความรวมถึง ผลิต ประกอบ ประดิษฐ์ ปรับปรุง แปรสภาพ หรือดัดแปลงเครื่องกำเนิดรังสี
"นำผ่าน" หมายความว่า นำ หรือส่งผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม
"มีไว้ในครอบครอง" หมายความว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อตนเองหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงมีไว้ในครอบครองเพื่อการขนส่ง
"แต่งแร่" หมายความว่า การกระทำอย่างใด ๆ เพื่อทำแร่ให้สะอาด หรือเพื่อให้แร่ที่ปนกันอยู่ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปแยกออกจากกัน

บททั่วไป :
มาตรา 6 พรบ.นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ที่จะป้องกันอันตรายจากผลกระทบทางนิวเคลียร์และรังสีที่จะมีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
มาตรา 7 พรบ.นี้ไม่บังคับใช้ในยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร


วัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี :
วัสดุกัมมันตรังสี :

มาตรา 18 วัสดุกัมมันตรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พรบ.นี้ ให้ดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนด โดยคำนึงถึงระดับกัมมันตภาพ หรือ ลักษณะการครอบครอง หรือ การใ้ช้วัสดุกัมมันตรังสี
มาตรา 19 ผู้ใดจะดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี ต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ ดังนี้
(1) ผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือ ใช้วัสดุกัมมันตรังสี
(2) นำเข้า ส่งออก หรือ นำผ่านวัสดุกัมมันตรังสี
ทั้งนี้ การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตวัสดุกัมมันตรังสี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 20 วัสดุกัมม้นตรังสีที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ให้ดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนด โดยคำนึงถึงระดับกัมม้นตภาพ หรือลักษณะการใช้งานวัสดุกัมมันตรังสี และผู้ใดมีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีที่ไม่ต้องขอรับใบรับรอง จะต้องแจ้งการครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีต่อเลขาธิการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 21 ใบอนุญาตของวัสดุกัมม้นตรังสี มีอายุดังนี้
(1) ใบอนุญาต ผลิตวัสดุกัมมันตรังสี มีอายุ 5 ปี
(2) ใบอนุญาต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี มีอายุ 5 ปี
(3) ใบอนุญาต นำเข้าวัสดุกัมม้นตรังสี มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
(4) ใบอนุญาต ส่งออกวัสดุกัมมันตรังสี มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
(5) ใบอนุญาต นำผ่านวัสดุกัมมันตรังสี มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน

เครื่องกำเนิดรังสี :
มาตรา 26 ผู้ใดจะดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดรังสี ต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ ดังนี้
(1) ทำเครื่องกำเนิดรังสี
(2) มีไว้ในครอบ หรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี
(3) นำเข้า หรือส่งออกเครื่องกำเนิดรังสี
ทั้งนี้ การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตสำหรับเครื่องกำเนิดรังสี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 27 ใบอนุญาตเครื่องกำเนิดรังสี มีอายุดังนี้
(1) ใบอนุญาต ทำเครื่องกำเนิดรังสี มีอายุ 5 ปี
(2) ใบอนุญาต มีไว้ในครอบครอง หรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี มีอายุ 5 ปี
(3) ใบอนุญาต นำเข้าเครื่องกำเนิดรังสี มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
(4) ใบอนุญาต ส่งออกเครื่องกำเนิดรังสี มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน

มาตรา 31 ผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี มีหน้าที่วางหลักประกันตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตเพื่อเป็นหลักประกันในการจัดการกากกัมม้นตรังสี และในการเข้าดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข  และระยะเวลาที่กำหนดตามกฎกระทรวง โดยหลักประกันนั้น จะเป็นเงินสด พันธบัตรของรัฐบาลไทย สัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือหลักประกันอื่นใดตามที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 35 การต่ออายุใบอนุญาตของวัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี ให้ยื่นคำขอต่ออนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ประกอบกิจการต่อไปได้ จนกว่าเลขาธิการจะสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตนั้น


วัสดุนิวเคลียร์ :
มาตรา 36 ผู้ใดจะดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุนิวเคลียร์ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ ดังนี้
(1) มีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุนิวเคลียร์
(2) นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุนิวเคลียร์
ทั้งนี้ การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตสำหรับวัสดุนิวเคลียร์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 37  ใบอนุญาตของวัสดุนิวเคลียร์ มีอายุดังนี้
(1) ใบอนุญาต มีไว้ในครอบครองหรือใช้วัสดุนิวเคลียร์  มีอายุ 5 ปี
(2) ใบอนุญาต นำเข้าวัสดุนิวเคลียร์  มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
(3) ใบอนุญาต ส่งออกวัสดุนิวเคลียร์  มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
(4) ใบอนุญาต นำผ่านวัสดุนิวเคลียร์  มีอายุตามที่กำหนดในใบอนุญาต แต่ไม่เกิน 6 เดือน
มาตรา 38  วัสดุนิวเคลียร์ที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ให้ดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนด โดยคำนึงถึงปริมาณ ความเข้มข้น และองค์ประกอบของวัสดุนิวเคลียร์ หรือลักษณะการใช้งานวัสดุนิวเคลียร์ ทั้งนี้ หากมีไว้ในครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ที่ไม่ต้องขออนุญาต จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองวัสดุนิวเคลียร์ต่อเลขาธิการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด


สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ :
มาตรา 45 ผู้ใดจะตั้งสถานประกอบทางนิวเคลียร์ ต้องได้รับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ใบอนุญาตก่อสร้างสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ และใบอนุญาตดำเนินการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ จากเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


กากกัมมันตรังสี :
มาตรา 75 ห้ามผู้ใดนำกากกัมมันตรังสีเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการนำเข้ากากกัมมันตรังสีที่เกิดจากการส่งออกกัมมันตรังสีในราชอาณาจักรไปจัดการนอกราชอาณาจักร หรือ ที่เกิดจากการส่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วไปแปรสภาพนอกราชอาณาจักร โดยได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ทั้งนี้ การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการออกไบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ แเละเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 76 ผู้ใดจะส่งกากกัมมันตรังสีออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับใบอนุญาตจากเลขาธิการ ทั้งนี้ การขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และการออกไบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ แเละเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 78 ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยทิ้งกากกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่เป็นกากกัมม้นตรังสีที่มีระดับค่ากัมม้นตภาพและค่าครึ่งชีวิตตามที่กำหนด และได้ดำเนินการปล่อยทิ้งกากกัมมันตรังสีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และปริมาณในการปล่อยทิ้งกากกัมม้นตรังสีที่กฎกระทรวงกำหนด
มาตรา 79 ผู้ก่อให้เกิดกากกัมม้นตรังสี มีหน้าที่จัดการกากกัมมันตรังสีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ แเละเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด หากกากกัมม้นตรังสีที่ต้องส่งให้หน่วยงานรัฐจัดการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการกากกัมม้นตรังสีนั้น ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีเป็นผู้จ่าย


ความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย :
มาตรา 88 ผู้รับใบอนุญาตครอบครองวัสดุกัมม้นตรังสี และวัสดุนิวเคลียร์ จะต้องยื่นรายงานแสดงปริมาณของวัสดุกัมม้นตรังสี หรือวัสดุนิวเคลียร์ ที่อยู่ในครอบคอรงต่อเลขาธิการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่เลขาธิการกำหนด
มาตรา 89 ผู้ใดวิจัยและพัฒนาวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ไม่ใช้วัสดุนิวเคลียร์ ต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เลขาธิการกำหนด
มาตรา 92 ผู้รับใบอนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี และผู้รับใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดรังสี ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ทำหน้าที่ในสถานที่ทำการของผู้รับใบอนุญาต อย่างน้อย 1 คน ประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ


การขนส่ง :
มาตรา 98 ผู้ครอบครองวัสดุกัมม้นตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว จะจัดให้มีการขนส่งวัสดุดังกล่าว จะต้องแจ้งต่อเลขาธิการ ทั้งนี้ การแจ้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เลขาธิการประกาศกำหนด
มาตรา 99  ผู้ครอบครองวัสดุกัมม้นตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ กากกัมมันตรังสี เชื้อเพลิงนิวเคลียร์หรือเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว จะต้องมีรายละเอียดการขนส่งอย่างน้อย ประกอบด้วย
(1) ข้อกำหนด หรือข้อจำกัดในการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ
(2) ประเภท ข้อกำหนด และการรับรองหีบห่อที่ใช้ในการขนส่ง
(3) การติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ทางรังสี
(4) การตรวจสอบและการควบคุมการขนส่ง


เหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

มาตรา 100 กรณีเกิดอันตราย หรือ ความเสียหายที่เกิดจากการประกอบกิจการตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ระงับเหตุเบื้องต้นตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับอันตราย หรือความเสียหายนั้น
มาตรา 101 กรณีเกิดอันตราย หรือความเสียหาย ที่มีลักษณะหรือขยายขอบเขตเป็นความเสียหายต่อสาธารณะ หรือ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าการประกอบกิจการตามใบอนุญาตอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีอำนาจเข้าระงับเหตุความเสียหายที่จะมีต่อสาธารณะได้ทันที รวมทั้งมีอำนาจในการประกาศมาตรการเพื่อประโยชน์ในการระงับเหตุนั้น ตามแผนฉุกเเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีและอยู่ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยให้สำนักงานมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและจัดให้มีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการ
นอกจากนี้ กรณีเกิดอันตรายหรือความเสียหายจากนิวเคลียร์หรือรังสีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ให้นำมาตรา 101 มาบังคับใช้โดยอนุโลม


ศึกษาบทกำหนดโทษ และกฎหมายฉบับเต็ม ตามไฟล์แนบท้ายนี้


กฎหมายฉบับเต็ม
 พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 (4 MB)