ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกร พ.ศ.2564
2,096 views    
        
ด้าน :
อาชีวอนามัย
เรื่อง :
งานเสี่ยงสูง
ลำดับกฎหมาย :
ประกาศกรม
การนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย :
ไม่ต่ำกว่ากฎหมาย
วันที่ประกาศ :
30 พฤศจิกายน 2564
วันที่มีผลบังคับใช้ :
1 ธันวาคม 2564

สาระสำคัญ

คำจำกัดความ
จุดคราก หมายถึง จุดที่หน่วยแรงดึงที่วัสดุเริ่มยีดโดยไม่ต้องเพิ่มแรงดึงขึ้นอีก
น้ำหนักบรรทุกใช้งาน หมายถึง ผลรวมของน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดที่กระทำต่อโครงสร้าง
น้ำหนักบรรทุกคงที่ หมายถึง น้ำหนักของนั่งร้านที่พิจารณาน้ำหนักรวมของอุปกรณ์ทั้งหมดของนั่งร้านร่วมด้วย
น้ำหนักบรรทุกจร หมายถึง น้ำหนักบรรทุกที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและตำแหน่ง เช่น  น้ำหนักบรรทุกของผู้ปฏิบัติงาน วัสดุ หรือรถเข็นซีเมนต์

หมวด 1 : ข้อกำหนดทั่วไป
1) นั่งร้านที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรือ นั่งร้านเสาเรียงเดียวสำหรับงานทาสีที่มีความสูงเกิน 7.2 เมตร และไม่มีรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณออกแบบโดยวิศวกร
2) เมื่อนายจ้างนำนั่งร้านมาใช้สำหรับการทำงาน อย่างน้อยต้องมีข้อมูลอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด
3) นั่งร้านที่นายจ้างให้ลูกจ้างใช้สำหรับทำงานที่มีความสูงตั้งแต่  4 เมตรขึ้นไป หรือ นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวสำหรับทาสีที่สูงเกิน 7.2 เมตร ต้องมีรายละเอียดข้อมูลสำหรับการคำนวณและออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด
4) นายจ้างที่มีการใช้นั่งร้านต้องดำเนินการให้มีรายการข้อมูลการใช้นั่งร้านตามที่กฎหมายกำหนด โดยติดไว้บริเวณที่มีการใช้นั่งร้าน
5) นายจ้างต้องจัดให้มีป้ายน้ำหนักบรรทุกใช้งานสูงสุด และจำนวนผู้ปฏิบัติงานสูงสุดแต่ละชั้นของนั่งร้าน พร้อมติดหมายเลขแต่ละชั้นของนั่งร้านให้เห็นอย่างชัดเจน
6) นายจ้างต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปใกล้หรือใช้นั่งร้าน พร้อมทั้งจัดทำป้ายหรือสัญลักษณ์ให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่มีการทดสอบ หรือตรวจสอบนั่งร้าน และอนุญาตให้ใช้นั่งร้านสำหรับทำงานได้
7) นายจ้างต้องดำเนินการสร้าง ติดตั้ง หรือวางฐานนั่งร้านบนพื้นที่ที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
8) หากจ้างสร้างนั่งร้านที่มีขอบพื้นนั่งร้านด้านในห่างจากแนวผนังของอาคารมากกว่า 45 เซนติเมตร ต้องจัดทำราวกันตก หรือสิ่งกั้นอื่นในด้านที่ติดกับแนวผนังของอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อเกิดความปลอดภัยต่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงาน ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวสำหรับ
งานทาสี
9) หากสร้างนั่งร้านหรือช่องทางเดิน ให้นายจ้างปิดคลุมเหนือช่องที่กำหนดให้เป็นทางเดินด้วยแผงไม้ หรือวัสดุอื่นที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตราย ปัญหาสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเดินบริเวณนั้น
10) หากสร้างนั่งร้านหลายชั้นและมีการปฏิบัติงานบนนั่งร้านหลายชั้นพร้อมกัน ให้นายจ้างจัดให้มีผ้าใบหรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ทำงานอยู่ชั้นล่างได้
11) หากสร้างนั่งร้านให้พิจารณาถึงแรงสั่นสะเทือน แรงลม และน้ำหนักของผ้าใบ แผ่นไม้ หรือสิ่งปิดกั้นอื่นที่อาจมีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของนั่งร้านด้วย
12) หากสร้างนั่งร้านแต่ละชั้นสูงเกิน 2 เมตร ต้องได้รับการออกแบบโดยวิศวกร
13) หากสร้างนั่งร้านใกล้หอลิฟต์ ต้องให้มีระยะห่างพอที่ตัวลิฟต์ไม่กระแทกนั่งร้านในขณะขึ้นลง
14) นายจ้างต้องมิให้มีการยึดโยงนั่งร้านกับหอลิฟต์ หรือยึดโยงกับโครงสร้างของเครื่องจักรที่ติดตั้ง เพื่อใช้ในการก่อสร้าง
15) หากสร้างนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องจัดให้มีการใช้เชือก ลวดสลิง หรือวัสดุอื่นใดต้องเหมาะสมกับร่องรอก หรือประเภทของรอก ทัั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่ผู้ผลิตหรือวิศวกรกำหนด
16) นายจ้างต้องติดตั้งนั่งร้านให้อยู่ในแนวระดับ และมีอุปกรณ์ หรือวิธีการอื่นใด สำหรับการตรวจเช็คระดับ
17) นายจ้างที่ให้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้าน หรือทำงานประกอบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และเคลื่อนย้ายนั่งร้าน ต้องจัดและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่เข็มขัดนิรภัย และเชือกนิรภัย หรือสายช่วยชีวิตพร้อมอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่เหมาะสมกับลักษณะงานตามที่กฎหมายกำหนด

หมวด2 : การคำนวณออกแบบ
1) กรณีที่ต้องจัดให้มีวิศวกรเป็นผู้คำนวณและออกแบบนั่งร้าน หรือ นั่งร้านที่ได้จากผู้ผลิต อย่างน้อยต้องมีกำลังของวัสดุมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด
2) การคำนวณน้ำหนักบรรทุกการใช้งานที่กระทำบนโครงสร้างนั่งร้าน อย่างน้อยต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ทั้งแนวดิ่งและน้ำหนักบรรทุกจากสภาพแวดลอ้ม
3) วัสดุที่ใช้ในการสร้างนั่งร้าน ต้องไม่มีคุณสมบัติดังนี้
- ชำรุด ผุ เปื่อย มีรอยแตกร้าว จนอาจทำให้ขาดความแข็งแรงและปลอดภัย
- วัสดุที่ใช้ทำโครงสร้างนั่งร้านต่างชนิดกัน
- ใช้ตะปูเหล็กหล่อยึดติดโครงสร้างนั่งร้านไม้
4) เชือก หรือลวดสลิง สำหรับนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องไม่มีลักษณะดังนี้
- ผุ เปื่อย ถูกกัดกร่อน ชำรุด หรือเป็นสนิม
- มีร่องรอยเนื่องจากถูกความร้อนหรือสารเคมีทำลาย
- เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลงเกินร้อยละ 5 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเดิม
- กรณีลวดสลิงขมวด (kink) หรือแตกเกลียว (bird caging)
- กรณีลวดสลิง เส้นลวดในหนึ่งช่วงเกลียว (lay) ขาดตั้งแต่ 3 เส้นขึ้นไปในเกลียว(strand) เดียวกัน หรือขาดตั้งแต่ 6 เส้นขึ้นไปในหลายเกลียว (strands) รวมกัน
5) การออกแบบนั่งร้านสำหรับการทำงาน อย่างน้อยต้องมีลักษณะดังนี้
- พื้นนั่งร้านต้องกว้างไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตร และยึดติดให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
- กรณีต้องมีการใช้บันได บันไดภายในนั่งร้าน บันไดไต่ หรือที่มีทางขึ้น - ลงนั่งร้าน ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ชำรุดเสื่อมสภาพ มีสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ตามลักษณะ ดังนี้ (ก) กรณีบันไดภายในนั่งร้าน ขนาดของลูกนอนบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร
และระยะห่างของขั้นบันไดต้องเท่ากันโดยห่างกันไม่เกิน 30 เซนติเมตร (ข) กรณีบันไดไต่ ต้องมีระยะห่างของขั้นบันไดเท่ากัน โดยห่างกันไม่เกิน 30 เซนติเมตร และติดตรึงกับนั่งร้านให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
- ราวกันตกมีความสูงอย่างน้อย 90 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.10 เมตร และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยราวบน ราวกลาง หรือสิ่งอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับนั่งร้านนั้น ๆ และสามารถป้องกันการตกของผู้ปฏิบัติงานได้
- ขอบกันวัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ตกหล่น ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร จากพื้นนั่งร้าน หรือสิ่งอื่นใดที่มั่นคงแข็งแรงเหมาะสมกับนั่งร้านนั้น ๆ และสามารถป้องกันการตกหล่น
- ยึดตรึงกับอาคารหรือโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อป้องกันการโย้หรือเซ
6) ติดตั้งนั่งร้านแบบห้อยแขวน ต้องไม่นำนั่งร้านไปเกาะหรือยึดติดกับกำแพงวัสดุก่อ ส่วนของอาคารที่มีโครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง หรือโครงสร้างที่มิได้กำหนดหรือออกแบบไว้
7) ติดตั้งนั่งร้านแบบห้อยแขวน ซึ่งมีด้านที่ชิดกับตัวอาคารหรือบริเวณที่ปฏิบัติงาน ต้องดำเนินการยึดโยงกับตัวอาคารมิให้นั่งร้านกระแทกกับตัวอาคาร มีการติดตั้วัสดุหรืออุปกรณ์ป้องกันการกระแทก หรือป้องกันการสัมผัสโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ส่วนประกอบของนั่งร้านกับส่วนของอาคารหรือโครงสร้าง เช่น ยางนิ่ม ยางลม หรือสิ่งอื่นใดที่มีความเหมาะสม เป็นต้น

หมวด 3 : การควบคุมการใช้นั่งร้าน
1) ต้องมีส่วนประกอบและอุปกรณ์รายงานประกอบแบบที่มีอยู่ในรายละเอียดคุณสมบัติและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตกำหนด หรือ รายละเอียดที่วิศวกรกำหนดทุกครั้งก่อนการติดตั้ง
2) ต้องมีการควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกร อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อ ก) มีการใช้นั่งร้านสำหรับงานก่อสร้างที่มีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ข) มีการใช้นั่งร้านห้อยแขวน
ทั้งนี้ การควบคุมนั่งร้าน ครอบคลุมตั้งแต่ ขั้นตอนก่อนการใช้งาน ระหว่างการใช้งาน และหลังการใช้งาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน หรือ ทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยมีรายการควบคุมนั่งร้านอย่างน้อยดังนี้
- โครงสร้างและส่วนประกอบของนั่งร้านมีเสถียรภาพ มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย
- พื้น หรือ ฐาน สำหรับรองรับนั่งร้าน ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้งาน
- มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ หรือตามลักษณะงาน
- ระบบป้องกันอันตรายที่ติดตั้งไว้ต้องมีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์เหมาะสมกับปัจจัยเสี่ยงของการทำงาน
- มีป้ายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้นั่งร้านติดไว้ให้เห็นชัดเจน
- ผู้ปฏิบัติงานบนนั่งร้านต้องปฏิบัติตามคู่มือความปลอดภัยในการทำงาน
หากควบคุมและพบว่ามีการใช้งานนั่งร้านไม่เป็นไปตามรายละเอียดคุณสมบัติและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิต หรือวิศวกรกำหนด หรือพบข้อบกพร่องของนั่งร้าน นายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างทำงานจนกว่าจะได้รับการแก้ไขข้อบกพร่อง ซ่อมแซมให้ถูกต้อง หรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย
3) กรณีที่นั่งร้านได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ หรือ สภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบกับความมั่นคงแข็งแรงของนั่งร้านจนอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรดำเนินการตรวจสอบ และทดสอบก่อนการใช้งาน


ศึกษากฎหมายฉบับเต็ม ได้ตามไฟล์แนบนี้

กฎหมายฉบับเต็ม
 ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกร (212 KB)