กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565
12,526 views    
        
ด้าน :
อาชีวอนามัย
เรื่อง :
ค่า/เกณฑ์มาตรฐาน, การบริหารจัดการ
ลำดับกฎหมาย :
กฎกระทรวง
การนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย :
ไม่ต่ำกว่ากฎหมาย
วันที่ประกาศ :
11 เมษายน 2565
วันที่มีผลบังคับใช้ :
10 มิถุนายน 2565
กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565

สาระสำคัญ 

กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
- ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553

“ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย” หมายความว่า ระบบการจัดการที่กำหนดขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง
ของระบบการจัดการของสถานประกอบกิจการเพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งครอบคลุมการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

กำหนดให้ นายจ้างของสถานประกอบกิจการตามท้ายประกาศฉบับนี้  ที่มีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัย ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่มีลูกจ้างครบตามกำหนด
ระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่างน้อย ประกอบด้วย
(1) นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(2) การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
(3) แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการนำไปปฏิบัติ
(4) การประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
(5) การปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

โดยที่ นายจ้างมีหน้าที่ในการกำหนด (1) "นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" ดังต่อไปนี้
1. จัดให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยฯ และเผยแพร่ให้ลูกจ้างและผู้เกี่ยวข้องรับทรายโดยทั่วถึง
2. จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยฯ เป็นภาษาไทย หรือ ภาษาอื่นที่ลูกจ้่างเข้าใจด้วยได้ พร้อมทั้งลงนามประทับตรารับรอง และลงวันที่ให้ถูกต้องครบถ้วน หรือจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
3. จัดให้มีการทบทวนนโยบายด้านความปลอดภัยฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ นโยบายด้านความปลอดภัยฯ ต้องสอดคล้องกับสภาพการทำงานและกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ
2. เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของ (2) "การจัดการองค์กรด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
1. การจัดให้มีบุคลากรที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบุคลากรแต่ละตำแหน่ง
2. การฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่เเพียงพอ และสามารถปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างปลอดภัย
3. การจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้เป็นปัจจุบัน เก็บไว้ที่สถานที่ประกอบกิจการ ไม่น้อยกว่า 2 ปีนับจากวันที่จัดทำ และพร้อมให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ หรือจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
4. การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ให้แก่ลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและมาตรฐานความปลอดภัยฯ ให้แก่ผู้รับเหมาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและปฏิบัติตาม

(3) "แผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน" อย่างน้อยต้องมีเนื้อหาดังนี้
1. การทบทวนสถานะเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำงานของลูกจ้าง รวมถึง การระบายอากาศ สารเคมีอันตราย ความร้อน แสงสว่าง เสียง รังสี ไฟฟ้า ที่อับอากาศ เครื่องจักร อาคาร สถานที่ ตลอดจนสภาพและลักษณะการทำงานอย่างอื่นของลูกจ้าง และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต้องมีการทบทวนสถานะเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงอันตราย หรือ ระดับความเสี่ยง ด้วยทุกครั้ง
2. การนำผลการทบทวนสถานะเบื้องต้นมาใช้ในการวางแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยฯ และอย่างน้อยต้องมีการกำหนดผู้รับผิดชอบ งบประมาณ ระยะเวลาดำเนินการ และเกณฑ์การประเมินผล
3. การนำแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ไปปฏิบัติตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่กำหนดไว้
4. การประเมินผลที่ได้จากการปฏิบัติตามแผนงานด้านความปลอดภัยฯ
5. การนำผลประเมินที่ได้ไปรับปรุงแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(4) "การประเมินผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย" อย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังนี้
1. มีการติดตามและการวัดผลการปฏิบัติงานของระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
2. มีการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติการณ์ การเจ็บป่วย โรคจาการทำงานหรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขและปรับปรุงระบบการจัดการด้านความปลอดภัย และกำหนดมาตรการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
3. มีการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย โดยนำผลการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัยมาวิเคราะห์หาสาเหตุของข้อบกพร่องและแนวโน้มที่จะเกิดข้อบกพร่อง
ทั้งนี้ นายจ้างต้องจัดให้มีการประเมินผลและทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

(5) "การปรับปรุงและการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย" ต้องนำผลที่ได้จากการประเมิบผลและการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น นายจ้างต้องดำเนินการ ดังนี้
1. ควบคุมดูแลการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
2. เปิดโอกาสให้ลูกจ้างทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามระบบการจัดการด้านความปลอดภัย
3. จัดให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยได้ โดยคำนึงถึงการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
4. จัดให้มีช่องทางในการรับความคิดเห็นข้อเสนอแนะ หรือ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้าง เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายจ้างได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานฯ ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)/มาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล (ISO)/มาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)/มาตรฐานของสถาบันมาตรฐานสหราชอาณาจักร (BSI)/มาตรฐานของสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (OSHA)/มาตรฐานของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (ANSI)/มาตรฐานของประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ (AS/NZS)/มาตรฐานของสมาพันธ์การกำหนดมาตรฐานของประเทศแคนาดา (CSA)/มาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าตามที่อธิบดีกำหนด โดยให้ถือว่า "ได้จัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยตามกฎกระทรวงนี้แล้ว"



ศึกษารายละเอียด และสถานประกอบกิจการที่ต้องดำเนินการ 54 ประเภท แสดงตามไฟล์แนบ กฎหมายฉบับเต็ม ด้านล่างนี้





กฎหมายฉบับเต็ม
 กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัย พ.ศ. 2565 (235 KB)