ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2565
8,288 views    
        
ด้าน :
เคมี
เรื่อง :
ค่า/เกณฑ์มาตรฐาน
ลำดับกฎหมาย :
ประกาศกระทรวง
การนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย :
มีไว้อ้างอิง
วันที่ประกาศ :
25 เมษายน 2565
วันที่มีผลบังคับใช้ :
22 ตุลาคม 2565
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2565

สาระสำคัญ : มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (รง.จำพวก 3 ที่มีการใช้/การเก็บสารเคมีอันตราย)

คำจำกัดความ

สารเคมี หมายความว่า สารที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ทั้งที่เป็นสารเดี่ยวและสารผสม ยกเว้นน้ำ
สารเคมีอันตราย หมายความว่า สารเคมีที่สามารถจำแนกความเป็นอันตรายได้ โดยอ้างอิงตาม GHS
การจัดเก็บสารเคมีอันตรายในอาคาร หมายถึง การจัดเก็บสารเคมีอันตรายในอาคารโรงงานที่จัดไว้เพื่อจัดเก็บสารเคมีอันตรายเป็นการเฉพาะ หรือ การจัดเก็บสารเคมีอันตรายในอาคารโรงงานที่จัดเก็บในห้องจัดเก็บสารเคมีอันตราย
เหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตราย หมายถึง เหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ในทันทีทันใดที่มีต้นเหตุหรือที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย เพลิงไหม้ หรือ ระเบิด
อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หมายถึง อุปกรณ์ที่สวมใส่เพื่อป้องกันอันตราย หรือลดความรุนแรงของการประสบอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน โดยต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด (รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ที่กฎหมายฉบับเต็ม)

กฎหมายฉบับนี้ มีทั้งหมด 5 หมวด ที่ต้องปฏิบัติตาม และต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจัดเก็บบันทึกผลการตรวจสอบไว้ในโรงงานพร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หมวดที่ 1 : การบริหารจัดการความปลอดภัยสารเคมี
1. ต้องมีบัญชีรายชื่อสารเคมีที่มีการเก็บ หรือ การใช้ และต้องปรับปรุงบัญชีรายชื่อสารเคมีให้เป็นปัจจุบัน
2. ต้องรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บ หรือ การใช้ในปริมาณตั้งแต่ 1 ตันต่อปีของสารเคมีอันตราย 1 ชนิด ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ปีละ 1 ครั้ง (ภายในวันที่ 1 มีนาคม ของปีถัดไป)
3. ต้องมีฉลากเป็นภาษาไทย หรือ คำแนะนำความปลอดภัยสารเคมีที่เป็นภาษาไทยไว้ที่ภาชนะบรรจุสารเคมีในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุ โดยฉลากมีรายละเอียดตามระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่อ้างอิงตาม GHS ทั้งนี้ หากไม่สามารถติดฉลากได้ เนื่องจากขนาด หรือลักษณะของภาชนะบรรจุสารเคมี ให้กำหนดวิธีการให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบถึงรายละเอียดของสารเคมีนั้น ๆ ณ บริเวณที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีนั้น
4. ต้องมีเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ของสารเคมีที่เป็นภาษาไทย หรือ คำแนะนำภาษาไทย ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และสื่อสารข้อมูลในส่วนที่สำคัญของสารเคมีให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างปลอดภัย
5. ต้องดูแลภาชนะบรรจุสารเคมีอันตรายให้ปิดสนิทมิดชิดเมื่อไม่ใช้งาน โดยที่ภาชนะบรรจุสารเคมีต้องแข็งแรง ทนทานปลอดภัยในการจัดเก็บและใช้งาน สามารถขนย้ายได้ด้วยความปลอดภัย
6. ต้องไม่วางสารเคมีอยู่ใกล้เตาไฟ หม้อน้ำ ท่อไอน้ำ สายไฟฟ้าแรงสูง บริเวณที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟ หรือ ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
7. ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรที่เหมาะสมกับชนิดของสารเคมีอันตราย โดยส่วนที่มีการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายต้องทำจากวัสดุที่ถูกต้องและเหมาะสม
8. ต้องมีลิ้นเปิดปิด (Valve) ที่เหมาะสมกับชนิดของสารเคมีอันตราย  และมีสัญลักษณ์หรือเอกสาร แสดงลักษณะการใช้งานที่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิ ความดัน ทิศทางการไหล ทั้งนี้ หากลิ้นเปิดปิด (Valve) อาจมีทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง ต้องติดตั้งป้ายแสดงสถานะการใช้งาน และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการชำรุดหรือรั่วซึม
9. ต้องมีการตรวจสอบ ทดสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย และต้องจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบ ทดสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงเก็บรักษาข้อมูลไว้ที่ปฏิบัติงานพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
10. การซ่อมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
     10.1 การซ่อมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องสมบัติสารเคมีอันตราย หรือ ปฏิบัติงานภายใต้คำแนะนำหรือการควบคุมงานของผู้มีความรู้เรื่องสมบัติสารเคมีอันตราย
     10.2 ต้องสวมใส่อุปกรณ์คุัมครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่เหมาะสม
     10.3 ต้องทำการแยกหรือตัดระบบ รวมถึงตัดแหล่งพลังงาน ก่อนการซ่อมบำรุง
     10.4 ต้องหยุดเครื่องจักรส่วนอื่นที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในบริเวณดังกล่าว
11. ต้องมีระบบอนุญาตในการทำงานที่มีประกายไฟ หรือ ความร้อนที่เป็นอันตราย (Hot Work Permit System)
12. ต้องมีป้ายสัญลักษณื หรือเครื่องหมายตาม มอก.ว่าด้วยเรื่องสีและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย ที่เห็นได้ชัดเจนในบริเวณที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมีอันตราย
13. ต้องไม่มีการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือพักอาศัย ในบริเวณที่มีการเก็บและการใช้สารเคมี
14. ต้องมีวิธีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนของการประกอบกิจการ เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในที่ปฏิิบัติงานหรือสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจและปฏิบัติตาม
15. ต้องมีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย และมีมาตรการให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ PPE ทุกครั้งเมื่อมีการปฏิบัติงาน รวมทั้งดูแลรักษา PPE ให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย
16. ต้องมี eye wash และ safety shower  ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ติดตั้งไว้ในบริเวณที่มีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ที่สามารถเข้าถึงได้และพร้อมใช้งาน
17. ต้องมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย อย่างน้อยครอบคลุมเนื้อหา การจัดการสารเคมีอันตราย วิธีปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย และการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ การจัดอบรมต้องดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้ด้านการจัดการสารเคมีอันตรายอย่างปลอดภัย และจัดให้มีการทบทวนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งเก็บหลักฐานการฝึกอบรมไว้ที่ปฏิบัติงานเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
18. ต้องมีระบบการสื่อสารและแจ้งเตือนหากเกิดเหตุสารเคมีอันตรายรั่วไหล เพื่อสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบและปฏิบัติตามแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตรายอย่างเคร่งครัด

หมวดที่ 2 : มาตรการความปลอดภัยการรับ การขนถ่ายและการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตราย
1. ต้องมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับ การขนถ่ายและการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตราย รวมถึงมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจาย กระเด็น หก รั่ว ไหล หรือตกหล่น ทั้งนี้ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และเก็บไว้ในที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจและปฏิบัติตาม
2. ต้องติดตั้งสายดิน (Grounding) รวมถึงต่อฝาก (Bonding) ของภาชนะบรรจุในขณะที่ทำการรับ การขนถ่าย หรือการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายที่มีสมบัติไวไฟ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าสถิต และทั้งการติดตั้ง และต่อฝากต้องเป็นไปตามหลักวิศวกรรม
3. ต้องตรวจสอบสภาพของภาชนะบรรจุที่รับเข้ามาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
4. การขนถ่ายเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายทางท่อทั้งบนดินและใต้ดิน ต้องดำเนินการดังนี้
    4.1 ท่อ หน้าแปลน หรือข้อต่อ ต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสมกับชนิดของสารเคมี และไม่ทำปฏิกิริยากัน
    4.2 ท่อส่งบนดิน ของสารเคมีอันตราย ต้องทาสี หรือทำสัญลักษณ์ หรือทำเครื่องหมายเป็นระยะให้เห็นได้ชัดเจน รวมทั้งระบุทิศทางการไหลของสารเคมีอันตรายในท่อ
    4.3 ท่อส่งสารเคมีอันตรายที่อุณหภูมิผิวภายนอกอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการสัมผัส ต้องมีวิธีป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หุ้มฉนวน หรือการ์ดป้องกัน หรือแสดงป้าย หรือข้อความเตือน และอื่น ๆ
    4.4 ต้องดูแล รักษา และตรวจสอบท่อบนดินรวมถึงอุปกรณ์รองรับท่อ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีการแตกร้าว รั่ว ซึม หรือชำรุดเสียหาย และเป็นไปตามแผนการบำรุงรักษา
    4.5 ต้องดูแล รักษา และตรวจสอบท่อใต้ดินหรือใต้น้ำ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มีการแตกร้าว รั่ว ซึม หรือชำรุดเสียหาย และมีมาตรการป้องกันผลกระทบแนวท่อ เช่น การติตดั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้า (Cathodic Protection)

หมวดที่ 3 : มาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บสารเคมีอันตราย

1. การจัดเก็บสารเคมีอันตรายในอาคาร ต้องมีมาตรการความปลอดภัย ดังนี้
    1.1 มีป้ายชี้บ่งว่าเป็นพื้นที่จัดเก็บสารเคมีอันตราย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
    1.2 จัดทำแผนผังแสดงการจัดเก็บสารเคมอันตรายที่เป็นปัจจุบัน โดยจัดเก็บในสถานที่ที่เข้าถึงได้ง่ายและพร้อมใช้งาน
    1.3 ต้องติดฉลากแสดงข้อมูลสารเคมีอันตรายบนภาชนะบรรจุ และอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ชำรุด เสียหาย
    1.4 จัดเก็บสารเคมีอันตรายตามสมบัติความเป็นอันตราย และต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมอันตรายอื่นที่จัดเก็บอยู่แล้ว  หรือเป็นไปตามคำแนะนำของเอกสารข้อมูลความปลอดภัย
    1.5 จัดเก็บและวางภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย ความจุสูงสุดไม่เกิน 450 ลิตร มวลสุทธิสูงสุดไม่เกิน 400 กิโลกรัม  โดยต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร หรือ หากวางบนแผ่นรองสินค้า (Pallet) ต้องวางไม่เกิน 3 ชั้น ยกเว้นกรณีที่จัดเก็บสารเคมีอันตรายบนชั้นวางที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ
    1.6 มีมาตรการป้องกันหรือควบคุมไอระเหยสารเคมีอันตรายในพื้นที่ที่เก็บสารเคมีอันตราย
    1.7 มีมาตรการในการป้องกันและระงับการหก รั่วไหล ของสารเคมีอันตราย
    1.8 ต้องสามารถนำเครื่องมือและอุปกรณ์เข้าไประงับเหตุฉุกเฉินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และไม่มีสิ่งกีดขวาง
    1.9 มีมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่เหมาะสมกับชนิด และเพียงพอกับปริมาณสารเคมีอันตรายที่จัดเก็บไว้
2. การจัดเก็บสารเคมีอันตรายนอกอาคาร ต้องมีมาตรการความปลอดภัย ดังนี้
    2.1 มีป้ายชี้บ่งว่าเป็นพื้นที่จัดเก็บสารเคมีอันตราย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
    2.2 จัดเก็บสารเคมีอันตรายในบริเวณที่เหมาะสมและจัดเตรียมไว้เป็นการเฉพาะ ไม่เป็นที่จอดยานพาหนะหรือเส้นทางจราจร
    2.3 พื้นต้องมั่นคงแข็งแรง ไม่ลื่น ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีอันตรายที่จัดเก็บ และไม่มีรอยแตกร้าว
    2.4 จัดเก็บสารเคมีอันตรายตามสมบัติความเป็นอันตราย และต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมอันตรายอื่นที่จัดเก็บอยู่แล้ว  หรือเป็นไปตามคำแนะนำของเอกสารข้อมูลความปลอดภัย
    2.5 จัดเก็บและวางภาชนะบรรจุสารเคมีอันตราย ความจุสูงสุดไม่เกิน 450 ลิตร มวลสุทธิสูงสุดไม่เกิน 400 กิโลกรัม  โดยต้องมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร หรือ หากวางบนแผ่นรองสินค้า (Pallet) ต้องวางไม่เกิน 3 ชั้น ยกเว้นกรณีที่จัดเก็บสารเคมีอันตรายบนชั้นวางที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ
    2.6 การจัดเก็บสารเคมีอันตรายนอกอาคาร ต้องคำนึงถึงผลกระทบอันเนื่องจากสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน แสงแดด และความสั่นสะเทือน ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาใด ๆ ที่เป็นอันตราย
    2.7 มีมาตรการในการป้องกันและระงับการหก รั่วไหล ของสารเคมีอันตราย
   2.8 มีระบบกักเก็บสารเคมีอันตายที่หก รั่วไหล ไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและต้องป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทางระบายสาธารณะ
   2.9 มีมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัย ที่เหมาะสมกับชนิด และเพียงพอกับปริมาณสารเคมีอันตรายที่จัดเก็บ

หมวดที่ 4 : มาตรการความปลอดภัยในการใช้สารเคมีอันตราย
1. ต้องมีการศึกษาการใช้งานสารเคมีอันตรายอย่างปลอดภัย ตามเอกสารข้อมูลความปลอดภัย หรือคำแนะนำของผู้ผลิต
2. ต้องมีขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานในการใช้สารเคมีอันตรายเป็ฯลายลักษณ์อักษร อยู่ในที่ที่สามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจและปฏิบัติตาม
3. ต้องแบ่งแยกพื้นที่ที่มีการใช้และการเก็บสารเคมีอันตรายที่อยู่ในอาคารเดียวกัน ออกจากกันให้ชัดเจน
4. ต้องมีมาตรการป้องกัน ควบคุม บำบัด หรือกำจัดไอระเหยสารเคมีอันตรายในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอันตราย
5. ต้องมีมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่เหมาะสมกับชนิด และเพียงพอกับปริมาณสารเคมีอันตรายที่ใช้งาน

หมวดที่ 5 : การระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตราย
1. ต้องมีป้ายเครื่องหมาย สัญลักษณ์ตามมาตรฐานสากล หรือข้อความ ที่แสดงระดับความไวไฟ อันตรายต่อสุขภาพ หรือรายละเอียดอื่น ๆ ในบริเวณที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมีอันตราย ให้เพียงพอและเหมาะสมในการระงับเหตุ
2. ต้องมีแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตรายให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่  และมีการเก็บไว้ในโรงงาน พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
3. ต้องจัดเตรียมทรัพยากรให้สอดคล้องตามแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตราย และมีความพร้อมที่จะระงับเหตุฉุกเฉิน
4. ต้องมีการสื่อสารแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน
5. ต้องมีการฝึกซ้อมและทบทวนแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตรายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
6. ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงานต้องหยุดการดำเนินงานในส่วนที่เกิดเหตุและปฏิบัติตามแผนการระงับเหตุฉุกเฉินสารเคมีอันตรายอย่างเคร่งครัด และผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากบริเวณนั้นทันที
7. ต้องจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นต่อการระงับเหตุที่เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลชนิดและปริมาณสารเคมีอันตรายที่มีการจัดเก็บในโรงงาน เอกสารข้อมูลความปลอดภัย แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร แบบแปลนแสดงอาคารโรงงาน แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างบริเวณโรงงาน และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่หน่วยงานภายนอกที่เข้ามาระงับเหตุ


ศึกษารายละเอียด แสดงตามไฟล์แนบ กฎหมายฉบับเต็ม ด้านล่างนี้



กฎหมายฉบับเต็ม
 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2565 (251 KB)